มะขามป้อม

ชื่อเครื่องยา

มะขามป้อม

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ได้จาก

ผล

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

มะขามป้อม

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

กันโตด(เขมร), กำทวด(ราชบุรี), มั่งลู่, สันยาส่า(กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Phyllanthus emblica L.

ชื่อพ้อง

Cicca emblica (L.) Kurz, Diasperus emblica (L.) Kuntze, Dichelactina nodicaulis Hance, Emblica arborea Raf., E. officinalis Gaertn., Phyllanthus mairei H.Lév., P. mimosifolius Salisb., P. taxifolius

ชื่อวงศ์

Euphorbiaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ผลสดกลม มีเนื้อ ผิวเรียบ ใส ฉ่ำน้ำ เมื่อดิบสีเขียวออกเหลือง ผลสุกสีเหลืองออกน้ำตาล เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร มีเส้นพาดตามความยาวของลูก 6 เส้น เมล็ดกลมแข็งมี 1 เมล็ด เนื้อผลมีรสฝาด เปรี้ยว ขม หวาน รับประทานเป็นอาหารได้ ทำให้ชุ่มคอ รับประทานน้ำตามไป ทำให้มีรสหวานดีขึ้น

 

เครื่องยา มะขามป้อม

 

เครื่องยา มะขามป้อม

 

เครื่องยา มะขามป้อม

 

มะขามป้อม(ผลสด)

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           เครื่องยาที่เป็นผลแห้ง ปริมาณความชื้นไม่เกิน 9% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 4.0% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.0% w/w  ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 16% w/w  ปริมาณสารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 26% w/w ปริมาณแทนนิน ไม่น้อยกว่า 20% w/w  

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: เนื้อผลแห้ง รสเปรี้ยวฝาดขม ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ เป็นยาฝาดสมาน แก้ริดสีดวง แก้บิด ท้องเสีย ใช้ควบกับธาตุเหล็ก แก้โรคดีซ่าน และช่วยย่อยอาหาร  ยางจากผล รสเปรี้ยวฝาดขม  ช่วยย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ ใช้เป็นยาแก้ไอ

           ตำรับยาแผนโบราณ: ผลอ่อน รสเปรี้ยวหวานฝาดขม บำรุงเนื้อหนังให้บริบูรณ์ กัดเสมหะในคอ ทำให้เสียงเพราะ แก้มังสังให้บริบูรณ์ แก้พรรดึก(ท้องผูก) แก้พยาธิ ผลแก่ รสเปรี้ยวฝาดขมเผ็ด แก้ไข้เจือลม แก้ไอ แก้กระหายน้ำ แก้เสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ลดไข้ ขับปัสสาวะ ระบายท้อง บำรุงหัวใจ ฟอกโลหิต แก้ลม แก้ลักปิดลักเปิด มีวิตามินซีมากกว่าส้ม 20 เท่า (เมื่อเทียบในปริมาณเท่ากัน)
           ตำรายาไทย: มะขามป้อมจัดอยู่ใน “พิกัดตรีผลา” คือการจำกัดจำนวนผลไม้ 3 อย่าง มี ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย ลูกมะขามป้อม สรรพคุณแก้ปิตตะ วาตะ เสมหะ ในกองธาตุ กองฤดู กองอายุ และกองสมุฎฐาน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           แก้ไอ ช่วยกระตุ้นให้น้ำลายออก ช่วยละลายเสมหะ มีวิธีใช้ดังนี้
           1.ใช้เนื้อผลสด ครั้งละ 2-5 ผล โขลกพอแหลก แทรกเกลือเล็กน้อย อม หรือเคี้ยว วันละ 3-4 ครั้ง
           2.ผลสดฝนกับน้ำแทรกเกลือจิบบ่อยๆ หรือใช้ผลสดจิ้มเกลือรับประทาน
           3.ผลสดตำคั้นเอาน้ำดื่ม หรือผลแห้ง 6-12 กรัม (ผลสด 10-30 ผล) คั้นน้ำดื่มหรือเคี้ยวอมบ่อยๆ

องค์ประกอบทางเคมี:
           มีวิตามินซีสูง (ในผลมะขามป้อม 1 ผลมีปริมาณวิตามินซีเทียบเท่ากับส้ม 2 ลูก) นอกจากนี้ยังพบ rutin, mucic acid, gallic acid, phyllemblic acid สารกลุ่มแทนนิน เบนซินอยด์ เทอร์ปีน ฟลาโวนอยด์ อัลคาลอยด์ คูมาริน เป็นต้น

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
           ต้านไวรัส (ไข้หวัดใหญ่, ยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 reverse transcriptase) แก้ไอ ต้านการอักเสบ ลดความดันโลหิต ยับยั้งการก่อกลายพันธุ์ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลดคอเลสเตอรอล ปกป้องตับ หัวใจและหลอดเลือด

การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           การศึกษาพิษเฉียบพลัน สารสกัดจากมะขามป้อมเข้าทางช่องท้องหนูถีบจักรเพศผู้และเมียมีค่า LD50 เท่ากับ 145และ 288 มก./กก นน.ตัวตามลำดับ พิษกึ่งเรื้อรัง ทดลองในหนูถีบจักรโดยป้อนสารสกัดขนาด 100 และ 500 มก./กก. นน.ตัว นาน 10 สัปดาห์ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักหัวใจ ปอด ตับ และเอนไซม์ที่ตับ

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา : www.phargarden.com

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : www.thaiherbarium.com


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting