เทียนสัตตบุษย์

ชื่อเครื่องยา

เทียนสัตตบุษย์

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ได้จาก

ผล

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

เทียนสัตตบุษย์

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

อาหนี

ชื่อวิทยาศาสตร์

Pimpinella anisum L.

ชื่อพ้อง

Anisum odoratum Raf., Anisum officinale DC., Anisum officinarum Moench, Anisum vulgare Gaertn., Apium anisum (L.) Crantz, Carum anisum (L.) Baill., Ptychotis vargasiana DC., Selinum anisum (L.) E.H.L. Krause, Sison anisum (L.) Spreng, Seseli gilliesii Hook. & Arn., Tragium anisum

ชื่อวงศ์

Apiaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

            ผลรูปไข่ มีร่องยาวตลอดเมล็ด ผิวมีขนสั้นๆ สีน้ำตาลอมเขียวปนเทา ขนาดกว้าง 1.3-1.8 มิลลิเมตร ยาว 3.4-5.0 มิลลิเมตร ด้านนอกนูน ด้านในที่ประกบกันมีลักษณะนูนเล็กน้อย ด้านที่นูนมีสันตามแนวยาวเมล็ด จำนวน 3 เส้น ด้านแนวเชื่อม 2 เส้น ผลมีกลิ่นหอมเผ็ดร้อนเล็กน้อย ผลแก่แห้งแล้วแตกแยกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนมี 1 เมล็ด เมล็ดมีสีน้ำตาล ขนาดกว้าง 1.3-1.8 มิลลิเมตร ยาว 3.4-5.0 มิลลิเมตร

 

เครื่องยา เทียนสัตตบุษย์

 

เครื่องยา เทียนสัตตบุษย์

 

 

เครื่องยา เทียนสัตตบุษย์

 

 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:

         ปริมาณความชื้นไม่เกิน 11% v/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 6% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 12% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 2.5% w/w  ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 10% w/w  ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย ไม่น้อยกว่า 1.0 % v/w 

 

สรรพคุณ:

            ตำรายาไทย เมล็ด รสเผ็ดหอมหวานเล็กน้อยแก้ลมครรภ์รักษา แก้พิษระส่ำระสาย แก้อาการหอบ และสะอึก แก้ไข้ แก้ไอ แก้หลอดลมอักเสบ ใช้ผสมร่วมกับชะเอมจีนทำยาอมแก้ไอ  น้ำมันจากเมล็ด ขับเสมหะ ฆ่าเชื้อโรค ขับลม แก้ปวดท้อง แก้ท้องอืดเฟ้อในเด็ก ฆ่าแมลง เช่น หมัด เหา เชื้อรา

            บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ระบุการใช้เทียนสัตตบุษย์ ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏในตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของเทียนสัตตบุษย์ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียที่ไม่ติดเชื้อ

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:

            ขนาดยาทั่วไป 0.5-1.0 กรัม วันละ 3 ครั้ง

 

องค์ประกอบทางเคมี:

            น้ำมันหอมระเหย 1.5-5% เรียกว่า น้ำมันเทียนสัตตบุษย์ (anise oil) มีองค์ประกอบหลักคือ trans-anethole 80-90%, methyl chavicol (estragole) 1-2%

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

          ฤทธิ์รักษาอาการท้องผูก

          การศึกษาเพื่อประเมินถึงประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ของผลิตภัณฑ์ชาชงที่ประกอบด้วยผงสมุนไพร 4 ชนิด ได้แก่ ผลเทียนสัตตบุษย์ 2 กรัม, ผลเทียนลวด 2 กรัม, ดอกอัลเดอร์เบอร์รี่ 5กรัม และดอกมะขามแขก 5 กรัม ผสมกันในรูปผงแห้ง นำมาศึกษาฤทธิ์ต่อการรักษาอาการท้องผูก โดยทำการทดลองแบบ randomized, crossover, placebo-controlled, single-blinded trial ในผู้ป่วย 20 รายที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังตามเกณฑ์การวินิจฉัยของ American Association of Gastroenterology ทำการแบ่งผู้ป่วยออกเป็นสองกลุ่ม และทำการสลับลำดับของการให้ยาเป็นแบบ counterbalanced across subjects คือครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยได้รับสารทดสอบเป็นเวลา  5  วัน ขั้นตอนการเตรียมสารทดสอบ ใช้ผงพืชผสมแล้วจำนวน 15 กรัม ชงกับน้ำจำนวน 1,500 ml และให้ผู้ป่วยดื่ม 150 ml (เทียบเท่ากับ 1 กรัมของผลิตภัณฑ์) ดื่ม 3 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 5 วัน ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งได้รับยาหลอกในช่วงเวลาเดียวกัน  โดยทั้งสองช่วงของการรักษาจะมีช่วงระยะเวลาการกำจัดยา (washout period) เป็นเวลา 9 วัน หลังจากนั้นจะให้ยาในทั้งสองกลุ่มอีกเป็นเวลา  5 วันเช่นเดียวกัน โดยผลการศึกษาหลักคือการวัดระยะเวลาการเคลื่อนของอุจจาระภายในลำไส้ใหญ่ (colonic transit time, CTT) โดยให้ผู้ป่วยรับประทานวัตถุทึบรังสี (radiopaque markers) ที่สามารถเอ็กซ์เรย์เห็นได้ ผลการศึกษารองคือจำนวนครั้งในการขับถ่ายต่อวัน, การรับรู้การทำงานของระบบทางเดินอาหาร, ผลข้างเคียง และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ผลการทดลองพบว่าค่าเฉลี่ยของเวลาการเคลื่อนของอุจจาระภายในลำไส้ใหญ่ (CTT)  จากการประเมินโดยการวัดทางรังสี มีค่าเท่ากับ 15.7 ชั่วโมง ในผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดพืช และ 42.3 ชั่วโมง ในผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก (p<0.001) และจำนวนครั้งในการขับถ่ายต่อวันมีค่าเพิ่มขึ้น เมื่อวันที่สองของการรักษา (p <0.001) และนอกจากนี้ผู้ป่วยมีการรับรู้ในการเคลื่อนไหวของการทำงานของระบบทางเดินอาหารดีขึ้น (p< 0.01) แต่คุณภาพชีวิตไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ กับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกในช่วงของการรักษา ยกเว้นว่ามีการลดลงเล็กน้อยของระดับโพแทสเซียมในเลือด ในระหว่างที่ได้รับสารสกัดพืช และไม่พบผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นของทั้งสองกลุ่มในช่วงของการรักษา สรุปว่าสารสกัดผสมของพืชดังกล่าวข้างต้นมีประสิทธิภาพในการเป็นยาระบาย และมีความปลอดภัยซึ่งสามารถใช้เป็นทางเลือกในการรักษาอาการท้องผูกได้  (Picon, et al., 2010) 

         ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย H. pyroli

         การศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย H.Pyroli 15 สายพันธุ์ โดยพบว่าเชื้อ H.Pyroli  มีความสัมพันธ์กับการเกิดกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง แผลในกระเพาะอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น  โดยทำการสกัดสารจากเมล็ดเทียนสัตตบุษย์ ด้วยเมทานอล และทำการทดสอบความไวของเชื้อต่อสารทดสอบโดยใช้เทคนิค agar dilution method ผลการทดลองพบว่าสารสกัดจากเมล็ดเทียนสัตตบุษย์สามารถยับยั้งเชื้อ H.Pyroli โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำที่สุดในการยับยั้งเชื้อ (MIC) เท่ากับ 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร (Mahady, et al., 2005)  

        

การศึกษาทางคลินิก:

        ไม่มีข้อมูล

 

การศึกษาทางพิษวิทยา:

        ไม่มีข้อมูล

 

เอกสารอ้างอิง:

1. Mahady GB, Pendland SL, Stoia A, Hamill FA, Fabricant D, Dietz BM, et al. In Vitro susceptibility of Helicobacter pylori to botanical extracts used traditionally for the treatment of gastrointestinal disorders. Phytother Res. 2005;19:988-991.

2. Picon PD, Picon RV, Costa AF, Sander GB, Amaral KM, Aboy AL, et al. Randomized clinical trial of a phytotherapic compound containing Pimpinella anisum, Foeniculum vulgare, Sambucus nigra, and Cassia augustifolia for chronic constipation. BMC Complementary and Alternative Medicine. 2010;10(1):1-9.

 ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ : www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting