เจตมูลเพลิงแดง

ชื่อเครื่องยา

เจตมูลเพลิงแดง

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ได้จาก

ราก

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

เจตมูลเพลิงแดง

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

ปิดปิวแดง (ภาคเหนือ) ปิดปีแดง(เลย) ไฟใต้ดิน(ใต้) คุ้ยวู่ (กาญจนบุรี)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Plumbago indica L.

ชื่อพ้อง

Plumbago rosea L., Thela coccinea

ชื่อวงศ์

Plumbaginaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

          รากเป็นแท่งค่อนข้างกลม โค้งงอ คดไปมา สีน้ำตาลดำ ขนาดความยาว 4-10 เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-1.5 เซนติเมตร

 

เครื่องยา รากเจตมูลเพลิงแดง

 

 

เครื่องยา รากเจตมูลเพลิงแดง

 

 

เครื่องยา รากเจตมูลเพลิงแดง

 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:

          ไม่มีข้อมูล

 

สรรพคุณ:

          ตำรายาไทย รากมีรสร้อน เป็นยาบำรุงไฟธาตุ บำรุงโลหิต ขับลมในลำไส้และกระเพาะอาหารให้ผายเรอ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดเสียด แน่นหน้าอก ทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น ขับพยาธิ แก้ปวดข้อ ขับประจำเดือนสตรี ใช้ผสมในยาบำรุงสำหรับสตรีหลังคลอด เพื่อให้มดลูกเข้าอู่ แต่กินมากอาจมีฤทธิ์บีบมดลูกทำให้แท้งลูกได้ (ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์) ใช้รากเจตมูลเพลิงผสมในยาธาตุ เป็นยาช่วยย่อยและยาเจริญอาหารโดยนำผงของรากมาผสมกับลูกสมอพิเภก ผลดีปลี และเกลือ อย่างละเท่ากันรับประทานครั้งละ 2.5 กรัม ขับโลหิตระดู นำรากบดเป็นผงปิดพอกฝี ทำให้เกิดความร้อน เกลื่อนฝีได้ แก้ริดสีดวงทวาร ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย กระจายเลือดลม แก้ปวดท้อง แก้ท้องเสีย ใช้เป็นยาทาภายนอกแก้โรคผิวหนังบางชนิด ทาแก้กลากเกลื้อน ระงับอาการปวดฟัน และแก้ท้องร่วง รากมีสาร plumbagin มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกและลำไส้ช่วยให้มีการหลั่งน้ำย่อยเพิ่มขึ้น เพิ่มความอยากอาหาร แต่อาจทำให้ระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร และอาจเป็นพิษได้ 

          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้เจตมูลเพลิงแดงในตำรับ “ยาเบญจกูล” มีส่วนประกอบของรากเจตมูลเพลิงแดงร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ แก้ธาตุให้ปกติ, ตำรับ “ยาแก้ลมอัมพฤกษ์” มีส่วนประกอบของรากเจตมูลเพลิงแดงร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชา ตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของรากเจตมูลเพลิงแดง ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:

    ไม่มีข้อมูล

 

องค์ประกอบทางเคมี:

    รากมีสาร แนฟธาควิโนน (naphthaquinone) ชื่อ plumbagin, 3-chloroplumbagin, 6-hydroxyplumbagin, plumbaginol

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา

      สารสกัดน้ำ และเอทานอล จากรากเจตมูลเพลิงแดง นำมาศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย 3 ชนิด คือ Staphylococcus aureus, Escherichia coli  และ Pseudomonas aeruginosa  โดยวิธี agar well diffusion ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดเอทานอลที่ความเข้มข้น 128 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร สามารถยับยั้งเชื้อ S. aureus ได้เพียงชนิดเดียว ซึ่งเป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคติดเชื้อบนผิวหนัง โดยเฉพาะโรค ฝี หนอง โดยมีขนาดบริเวณใสในการยับยั้งเชื้อเท่ากับ 20.42 ± 0.91 มิลลิเมตร โดยเปรียบเทียบกับยามาตรฐานคลอแรมเฟนิคอลขนาด (1mg/ml) วัดขนาดบริเวณใสได้ เท่ากับ 27.6 ± 0.07ส่วนสารสกัดน้ำไม่ออกฤทธิ์ (จารวี และ สุบงกช, 2555)

     สารบริสุทธิ์ plumbagin (5-hydroxy-2-methyl-1, 4-naphthoquinone) ที่แยกได้จากรากเจตมูลเพลิงแดง มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย S. aureus และเชื้อรา Candida albicans ได้ดีมากโดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ (MIC) มีค่าเท่ากับ 5 μg/ml การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเชื้อทั้งสองชนิดด้วยวิธี ex-vivo porcine skin model โดยใช้ผิวหนังใบหูของหมูมาบ่มเพาะเชื้อทดสอบทั้งสองชนิด และทดสอบความสามารถในการต้านเชื้อของสาร plumbaginในบริเวณผิวหนังหมูที่ติดเชื้อ และการทดสอบการต้านเชื้อโดยใช้แมลงหวี่ Drosophila melanogaster ซึ่งแมลงหวี่จะได้รับเชื้อ S. aureus  และ C. albicans  จากนั้นจะได้รับสาร plumbaginพบว่าแมลงมีอัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ เจตมูลเพลิงแดงยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่กระจายไบโอฟิล์มของเชื้อไม่ให้เกาะกลุ่มกันในสายสวนปัสสาวะ จากผลการศึกษา สรุปได้ว่าสาร plumbaginจากรากเจตมูลเพลิงแดงมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อจุลชีพได้ดีมาก และสามารถนำมาใช้ในการรักษาการติดเชื้อ S. aureus (ทำให้เกิดการติดเชื้อที่แผล ฝีหนอง เป็นต้น) และ C. albicans (ทำให้เกิดการติดเชื้อราที่ช่องคลอด ช่องปาก เป็นต้น) (Nair, et al, 2016)

ฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย

      ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย ของสารสกัดเอทานอลที่ได้จากพืชสมุนไพร 20 ชนิด ต่อเชื้อ Plasmodium falciparum สายพันธุ์ TM267 ที่ดื้อต่อยา chloroquine ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย ทดสอบในหลอดทดลอง และทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ ด้วยวิธี3-(4,5-dimethylthiazol-2-yl)-2,5-diphenyltetrazolium bromide MTT assay หาค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งเชื้อได้ร้อยละ50 (IC50) และความเข้มข้นที่ทำให้เกิดพิษต่อเซลล์ร้อยละ 50 (CC50) และนำไปศึกษาการจำลองการจับกันเชิงโมเลกุลกับเอนไซม์  Plasmodium falciparum dihydrofolate reductase (PfDHFR) ซึ่งการยับยั้งเอนไซม์นี้เป็นเป้าหมายหลักในการยับยั้งเชื้อมาลาเรีย ใช้วิธี molecular docking เปรียบเทียบกับยาต้านมาลาเรียมาตรฐาน  pyrimethamine ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลจากรากเจตมูลเพลิงแดงมีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียสูงที่สุด โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 3.7 µg/ml  โดยออกฤทธิ์ได้เทียบเท่ากับสารมาตรฐาน artemisinin และมีพิษต่อ vero cell น้อยที่สุด โดยมีค่า CC50 เท่ากับ 0.0145  mg/ml ค่า SI (selectivity index) เท่ากับ 48.33 ซึ่งแสดงถึงความไม่เป็นพิษต่อเซลล์ปกติ (SI>10) และพบว่าสาร plumbagin ที่เป็นองค์ประกอบหลักจากรากเจตมูลเพลิงแดง มีคะแนนสูงจากการทำนายการจับกันกับ PfDHFR คะแนนของ plumbagin และสารมาตรฐาน pyrimethamine เท่ากับ 36.20 และ 56.97 ตามลำดับ โดยสรุปสารสกัดจากเจตมูลเพลิงแดงมีความสามารถในการยับยั้งเชื้อมาลาเรีย โดยสารบริสุทธิ์ plumbagin สามารถจับที่บริเวณเร่งปฎิกริยาของ PfDHFRได้ จึงมีความน่าสนใจเพื่อที่จะนำไปศึกษาเพิ่มเติมเชิงลึกต่อไป (Horata, et al., 2017)

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

      ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารบริสุทธิ์ plumbagin ที่แยกได้จากรากเจตมูลเพลิงแดง ทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลอง 2 วิธีคือ การทดสอบความคงตัวของเยื่อหุ้มเซลล์เม็ดเลือดแดง ด้วยวิธี Human RBC membrane stabilization method (โดยใช้เซลล์เม็ดเลือดแดงที่แยกได้จากมนุษย์) และการยับยั้งการสลายตัวของโปรตีน ด้วยวิธี Inhibition of Protein Denaturation โดยใช้อัลบูมินจากไข่ ผลการทดสอบพบว่า สาร plumbagin จากรากเจตมูลเพลิงแดง ในขนาดความเข้มข้น 100μg/ml มีฤทธิ์ในการยับยั้งการอักเสบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสามารถยับยั้งการเปลี่ยนสภาพของเยื่อหุ้มเซลล์เม็ดเลือดแดงได้เท่ากับ 87.23±0.002% เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน diclofenac sodium ในขนาดความเข้มข้น 100 μg/ml ที่มีร้อยละในการยับยั้งเท่ากับ 92.12 และสามารถยับยั้งการเปลี่ยนสภาพของโปรตีนได้เท่ากับ 70.84±013% เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐานแอสไพรินในขนาดความเข้มข้น 100 μg/ml ที่มีร้อยละในการยับยั้งการเปลี่ยนสภาพโปรตีนเท่ากับ 78.23 (Raju R, et al., 2014) โดยสรุปสาร plumbagin ที่ได้จากรากเจตมูลเพลิงแดงมีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยทำให้ผนังเยื่อหุ้มไลโซโซม (lysosomal membrane) มีความคงตัว  จากการทดสอบด้วยวิธีใช้เซลล์เม็ดเลือดแดง จึงทำให้ไม่ปล่อยเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นขบวนการอักเสบมาทำอันตรายต่อเซลล์

ผลต่อพยาธิใบไม้ในกระเพาะ

      การทดสอบในหลอดทดลองของสารพลัมบาจินที่แยกได้จากรากเจตมูลเพลิงแดง ในการฆ่าพยาธิใบไม้กระเพาะ Paramphistomum  cervi ในระยะตัวเต็มวัย โดยนำพยาธิแช่ในอาหารเลี้ยงเชื้อ M-199 ที่มีสารสกัดพลัมบาจินที่ความเข้มข้น 0.1, 1.0, 10 และ 100 μg/ml และยาฆ่าพยาธิอัลเบนดาโซน และอัลเบนดาโซนซัลโฟไซด์ ที่ความเข้มข้น 100 μg/ml ใช้เป็นสารมาตรฐาน ประเมินผลที่เวลา 3, 6, 12  และ 24 ชั่วโมง โดยหาค่าความสัมพันธ์การเคลื่อนไหว และศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงของผิวพยาธิด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบส่องกราด พบว่า 12 ชั่วโมง หลังพยาธิ P.cervi  สัมผัสยาฆ่าพยาธิอัลเบนดาโซน พบว่ามีการเคลื่อนไหวตลอดทั้งตัว แต่มีการเคลื่อนไหวลดลง หลังจากนั้นในชั่วโมงที่ 24 พยาธิมีการเคลื่อนไหวเฉพาะบางส่วนของร่างกาย ส่วนพยาธิที่แช่ในสารสกัดพลัมบาจินทุกความเข้มข้นมีการเคลื่อนไหวลดลงตั้งแต่ชั่วโมงที่ 3 สารสกัดพลัมบาจินที่ความเข้มข้น 0.1, 1.0 และ 10 μg/ml มีค่าความสัมพันธ์การเคลื่อนไหวลดลงจากชั่วโมงที่ 3-12 และที่ความเข้มข้น 10 μg/ml พบว่าพยาธิ P.cervi  ตายที่ชั่วโมงที่ 12 สารสกัดพลัมบาจินความเข้มข้นที่ 100 μg/ml ทำให้พยาธิมีการตายมากที่สุดตั้งแต่ชั่วโมงที่ 3 ชั้นผิวของพยาธิหลังสัมผัสสารสกัดพลัมบาจิน และอัลเบนดาโซนมีลักษณะขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงแบบเดียวกัน โดยเริ่มจากการบวม และมีตุ่มพองที่ชั้นผิว ตุ่มพองแตก ผิวถูกกัดเซาะและหลุดลอกไปในที่สุด ผลของการเปลี่ยนแปลงชั้นผิวทำให้เกิดพยาธิสภาพถึงชั้น basal lamina พยาธิสภาพชั้นผิวเกิดด้านท้องมากกว่าด้านหลังของพยาธิ และโดยเฉพาะส่วนทางด้านหน้าและขอบด้านข้างเศษหนึ่งส่วนสามของตรงกลางเมื่อเปรียบเทียบกับด้านหลังของพยาธิ ความรุนแรงและความเร็วของการทำลายแปรผันตามความเข้มข้นของสารสกัดพลัมบาจิน ซึ่งมีฤทธิ์มากกว่ายาฆ่าพยาธิอัลเบนดาโซน ดังนั้นสารสกัดพลัมบาจินมีความสามารถเป็นยาฆ่าพยาธิใบไม้กระเพาะ P.cervi  ในระยะตัวเต็มวัยได้ (นฦวรรณ, 2554)

การทดสอบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระ และเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็ก

       สารสกัดเอทานอลจากรากเจตมูลเพลิงแดง นำมาทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธีการทางเคมี ในหลอดทดลอง ด้วยวิธีทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH โดยใช้ ascorbic acid เป็นสารมาตรฐาน พบว่า สารสกัดเจตมูลเพลิงแดง และ ascorbic acid มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ DPPH โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 1.18 และ 0.04 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร  ตามลำดับ การศึกษาผลในการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็ก โดยใช้ EDTAเป็นสารมาตรฐาน หากสารสกัดสมุนไพรมีความสามารถจับเหล็ก จะช่วยลดภาวะ oxidative stress เนื่องจากเหล็กอิสระที่มีอยู่ทั่วร่างกายสามารถเหนี่ยวนำ ให้เกิดอนุมูลอิสระคืออนุมูลไฮดรอกซิล (OH•) จากซูเปอร์ออกไซด์ (O2•-) และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide, H2O2) ในปฎิกิริยา Fenton ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะ oxidative stress ตามมา  ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดเจตมูลเพลิงแดง และ EDTA สามารถเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็ก โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 18.60, 0.04 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ (ธวัชชัย และคณะ, 2557)

 

การศึกษาทางพิษวิทยา:

พิษเฉียบพลัน และพิษกึ่งเฉียบพลัน

           สารสกัดเอทานอลจากรากเจตมูลเพลิงแดง นำมาศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักร และพิษกึ่งเฉียบพลันในหนูขาว พิษเฉียบพลันดูผลภายใน 24 ชั่วโมง โดยฉีดสารทดสอบเข้าช่องท้องของหนู และวิธีป้อนให้หนูกิน พบว่า ค่า LD50 เท่ากับ 239.88 mg/kg และ 1,148.15 mg/kg ตามลำดับ และพบว่าเมื่อให้ทางการกินในขนาดมากกว่า 1,250 mg/kg จะทำให้หนูท้องเสียอย่างรุนแรง พิษกึ่งเฉียบพลัน ไม่พบการตาย เมื่อให้สารสกัดขนาด 50 mg/kg ทางการฉีดเข้าที่ช่องท้องแก่หนู ทุกวัน เป็นเวลา 30 วัน พบว่าน้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น น้ำหนักตับ ไต ต่อมไทมัส อัณฑะ ลดลงในหนูเพศผู้ แต่น้ำหนักม้ามเพิ่มขึ้น ในหนูเพศเมียพบว่าน้ำหนักของต่อมไทมัสลดลง น้ำหนักของมดลูกเพิ่มขึ้น น้ำหนักของตับและม้าม ไม่เปลี่ยนแปลง จำนวนเม็ดเลือดขาวรวม และนิวโทรฟิล เพิ่มขึ้น ระดับของ serum alkaline phosphatase และ alanine transaminase (ALT) เพิ่มขึ้น ดังนั้นเมื่อให้ยาในขนาดสูง ขนาดยารวม 15 g/kg  จะยับยั้งการเจริญเติบโตทั้งสองเพศ  โดยเมื่อนำอวัยวะร่างกายของหนูมาศึกษา พบว่าหนูเพศผู้นั้นจะมีความไวต่อยามากกว่าหนูเพศเมีย (Solomon, et al, 1993)

พิษต่อตัวอ่อนในครรภ์

          สารสกัดรากเจตมูลเพลิงแดงด้วยเมทานอล นำมาศึกษาฤทธิ์คุมกำเนิด พบว่าเมื่อป้อนสารสกัดเจตมูลเพลิงแดงทางปากแก่หนูถีบจักรที่ตั้งครรภ์ ในขนาดสูง (400 และ 800 mg/kg) วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน เริ่มให้ในวันที่ 10 ของการตั้งครรภ์ พบว่าเกิดความเป็นพิษต่อตัวอ่อนในครรภ์ และมีฤทธิ์ทำให้หนูแท้งในระดับอ่อน ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ในขณะตั้งครรภ์ (Sattar, et al, 2007)

ผลต่อไซโตโครมพีในตับและปอด

     การศึกษาในหลอดทดลองของสารสกัดเมทานอลจากรากเจตมูลเพลิงแดง และสารบริสุทธิ์ plumbagin ที่แยกได้จากรากเจตมูลเพลิงแดง ต่อการแสดงออกของไซโตโครม พี 450 2 อี 1 (Cyp2e1) ในตับ และไซโตโครม พี 450 2 เอฟ 2 ในปอด ของหนูถีบจักรเพศผู้ สายพันธุ์ ICR ที่ได้รับสาร plumbaginขนาด 1, 5 และ 15 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน และสารสกัดรากเจตมูลเพลิงแดง ขนาด 20, 200 และ 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน โดยการป้อนทางปากทุกวันติดต่อกันเป็นระยะเวลา 14 วัน การแสดงออกที่ระดับเอ็มอาร์เอ็นเอของ Cyp2e1 ในตับ และ Cyp2f2 ในปอด ถูกวิเคราะห์ด้วยเทคนิคปฏิกิริยารีเวิร์สทรานสคริปชั่นร่วมกับปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรสแบบเวลาจริง (RT real-time PCR) ผลการศึกษาพบว่าสาร plumbagin ในขนาด 5 และ 15 mg/kg/วัน เพิ่มระดับการแสดงออกของ Cyp2e1 ให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ขนาด 5 mg/kg/วัน p<0.05, ขนาด 15 mg/kg/วัน p<0.01 ต่อไซโตโครมทั้งสองชนิด) ในขณะที่สารสกัดหยาบแสดงผลการเหนี่ยวนำเพียงเล็กน้อยต่อไซโตโครมทั้งสองชนิด จากการศึกษานี้พบว่าสาร plumbagin และสารสกัดหยาบเจตมูลเพลิงแดงทำให้อนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น และเกิดภาวะเครียดออกซิเดชั่นในตับและปอด จากการกระตุ้น หรือเพิ่มการทำงานของไซโตโครมทั้งสองชนิด ดังนั้นการใช้สาร plumbagin หรือสารสกัดหยาบเจตมูลเพลิงแดง รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารดังกล่าวควรระมัดระวัง เนื่องจากอาจเกิดความเป็นพิษต่อตับ และปอดผ่านการเหนี่ยวนำภาวะเครียดออกซิเดชั่นที่มีความสัมพันธ์กับเอนไซม์ Cyp2e1 และ Cyp2f2  (Chatuphonprasert, et al., 2015)

 

ข้อควรระวัง

            1. ห้ามใช้ในสตรีระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะทำให้มดลูกบีบตัวอาจทำให้แท้งได้

            2. สารพลัมเบจินมีฤทธิ์ทำให้ระคายเคืองอย่างแรง ทำให้ผิวหนังไหม้ และเกิดตุ่มพองได้ หากใช้ในขนาดสูง จะกดการหายใจ ทำให้เป็นอัมพาต และตายได้ เนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว การใช้สมุนไพรนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนไทย

 

เอกสารอ้างอิง

1. จารวี สุขประเสริฐ, สุบงกช ทรัพย์แตง. การศึกษาผลของตัวทําละลายในการสกัดสมุนไพรที่มีผลต่อการยับยั้งแบคทีเรีย. วารสารผลงานวิชาการกรมวิทยาศาสตร์บริการ. 2555;1(1):99-109.

2. ธวัชชัย นาใจคง, อาซีด หวันยาวา, กฤตพงษ์ เก้าเอี้ยน, จตุพร คงสุขนิรันดร์, สนั่น ศุภธีรสกุล, มาลินี วงศ์นาวา และคณะ. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็ก ของสมุนไพรไทยบางชนิด. วารสารวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 2557;42(1):149-158.

3. นฦวรรณ เสาวคนธ์. โครงการวิจัยเรื่องการศึกษาผลของสารสกัดพลัมบาจินจากต้นเจตมูลเพลิงแดงต่อพยาธิใบไม้ในกระเพาะ Paramphistomum cervi. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. 2554.

4, Chatuphonprasert W, Tatiya-phiradee N, Jarukamjorn K. Effect of Plumbago indica L. and plumbagin on the expression of hepatic cytochrome P450 2e1 and lung cytochrome P450 2f2 in mice.Journal of Science and Technology Mahasarakham University). 2015;34(6): 692-696.

5. Horata N, Suttirat S, Panpanich T, Siriphor A, Navaprayoonvach B, Suwanwisolkij N, et al. In vitro antimalarial activity and cytotoxity of 20 ethanolic crude extracts from Thai herbs against Plasmodium falciparum TM267. Songklanagarind Medical Journal. 2017;35(2):109-120.

6. Nair SV, Baranwal G, Chatterjee M, Sachu A, Vasudevan AK, Bose C, et al. Antimicrobial activity of plumbagin, a naturally occurring naphthoquinone from Plumbago rosea, against Staphylococcus aureus and Candida albicans. Int J Med Microbiol. 2016;306(4):237-248.

7. Raju R, Sunny A, Thomas JK, Abraham L, Thankapan TDC. Isolation, characterization and in-vitro anti-inflammatory activity of Plumbago indica L. Adv Pharmacol Toxicol. 2014;15(1):13-17.

8. Sattar MA, Abdullah NA, Khan AH, Dewa A, Samshia D. Uterotrophic, fetotoxic and abortifacient effect of a Malaysian variety of Plumbago rosea L. on isolated rat uterus and pregnant mice. Pak J Biol Sci. 2007;10(5): 763-767.

9. Solomon FE, Sharada AC, Devi PU. Toxic effects of crude root extract of Plumbago rosea (Rakta chitraka) on mice and rats. J Ethnopharmacology.1993;38(1):79-84.

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา    : www.phargarden.com

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง               : www.thaiherbarium.com

ข้อมูลตำรับยาแก้ลมอัมพฤกษ์  : www.thai-remedy.com

ข้อมูลตำรับยาเบญจกูล            : www.thai-remedy.com

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม           www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting