สะค้าน

ชื่อเครื่องยา

สะค้าน

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ได้จาก

เถา

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

สะค้าน

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

ตะค้านเล็ก ตะค้านหยวก

ชื่อวิทยาศาสตร์

1. Piper interruptum Opiz , 2. Piper ribesioides Wall. 3. Piper wallichii (Miq.) Hand.-Mazz.

ชื่อพ้อง

-

ชื่อวงศ์

Piperaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

          เถาแห้งสีน้ำตาล ทรงกระบอก ผิวขรุขระ มีข้อปล้อง หน้าตัดตามขวงมีลายเส้นเป็นแนวรัศมี เปลือกค่อนข้างอ่อน เนื้อสีเหลืองน้ำตาล มีรากฝอยติดอยู่ตามข้อ ยาว 2-6 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสเผ็ดร้อน

 

เครื่องยา เถาสะค้าน

 

เครื่องยา เถาสะค้าน

 

เครื่องยา เถาสะค้าน

 

 

 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:

           ลำต้นสะค้าน (Piper wallichii (Miq.) Hand.-Mazz.) ปริมาณความชื้นไม่เกิน 8% w/w ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2 % w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 9% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอลไม่น้อยกว่า 6% w/w ปริมาณสารสกัดน้ำไม่น้อยกว่า 25% w/w (THP)

 

สรรพคุณ:

          ตำรายาไทย เถา รสเผ็ดร้อน ขับลมในลำไส้ แก้แน่น แก้จุกเสียด บำรุงธาตุ ทำให้ผายเรอ และใช้ปรุงยาธาตุ แก้ธาตุพิการ เป็นตัวยาประจำธาตุลม

         บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้สะค้านในตำรับ “ยาเบญจกูล” มีส่วนประกอบของเถาสะค้านร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ แก้ธาตุให้ปกติ

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:       -

 

องค์ประกอบทางเคมี:

          ลำต้นสะค้านพลูที่แห้ง (Piper ribesioides Wall.) นำมาสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ นำสิ่งสกัดที่ได้มาแยกด้วยคอลัมน์โครมาโทรกราฟีแบบรวดเร็ว สามารถแยกสารประกอบได้ 7 ชนิด จากสมบัติทางกายภาพ และข้อมูลทางสเปกโทรสโคปี สามารถทราบโครงสร้างทางเคมีของสารประกอบได้ 7 ชนิด คือ methyl-5-(3’, 4’-methylenedioxyphenyl) penta-2-4-dienoate (m.p. 141-143°C, C13H12O4, ผลึกรูปเข็มสีเหลือง), 2-(3’-hydroxy-4’-methoxyphenyl)-3-methyl-5-trans-propenyl-7-methoxybenzofuran (m.p. 102-105°C, C20H20O4, ของแข็งสีขาว),2-(3’,4’-methylenedioxpheny)-3-methyl-5-trans-propenyl-7-methoxybenzofuran (m.p.146-148°C, C20H18O4, ผลึกรูปเข็มสีขาว), (-)-borneol p-hydroxycinnamide (m.p. 153-154°C, ผลึกรูปเข็มสีขาว), heteropeucenin-8-methyether (m.p.105-107 °C, C16H18O4, ผลึกรูปเข็มสีเหลือง), crotepoxide (m.p.149-150°C, C18H18O8, ของแข็งสีขาว) และ N-isobutyl-13-(3,4-methylenedioxyphenyl) trideca-2,4,12-trinamide (m.p.116-117°C, C24H33NO3,ผลึกรูปเข็มสีขาว) (สันทัฎฐ์, 2539)

           การแยกสารบริสุทธิ์จากสารสกัดคลอโรฟอร์มของลำต้นตะค้าน (Piper ribesioides Wall.) พบสารในกลุ่ม aristololactam ซึ่งเป็นชนิดที่มีหมู่ N-methyl ในสูตรโครงสร้าง นอกจากนี้ยังแยกสารอีก 5 ชนิดได้ คือ methyl 2E, 4E, 6E, -7-phenyl-2,4, 6-heptatrienoate, methyl piperate, crotepoxide,eupomatenoid และ β–sitosterol ส่วนสิ่งสกัดในชั้นคลอโรฟอร์มของผล นำมาแยกได้สารบริสุทธิ์ 2 ชนิด ได้แก่ hinokinin และ bornyl p-coumarate (สมภพ และคณะ, 2534)

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ลดการอักเสบ

       ศึกษาฤทธิ์ลดการอักเสบ โดยให้โดยให้สารสกัดเอทานอลจากลำต้นสะค้าน (Piper interruptum Opiz) ทาที่หูหนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์ Sprague-Dawley ขนาด 1 mg (20 μL) ต่อหูหนู 1 ข้าง ก่อนที่จะกระตุ้นให้หูหนูเกิดการบวมด้วยการทา ethyl-Phenylpropiolate  (EPP) ในขนาด 1 mg/20 μL ต่อหูหนู 1 ข้าง จากการทดลองพบว่าสารสกัดจากสะค้านสามารถยับยั้งการบวมของหูหนูได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ซึ่งใช้ phenylbutazone 1 mg พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการบวมของหูหนูได้ไม่แตกต่างกัน ฤทธิ์ต้านการอักเสบเมื่อเหนี่ยวนำให้อุ้งเท้าหนูบวมด้วยการฉีดคาราจีแนน (carrageenan-induced paw edema assay) ผลการทดสอบพบว่าเมื่อป้อนสารสกัดขนาด 300, 600 และ 1,200 mg/kg เป็นเวลา 1 ชั่วโมงก่อนให้คาราจีแนน สามารถลดการบวมได้ตั้งแต่ชั่วโมงที่ 1, 3 และ 5 (Sireeratawong, et al., 2012)

ฤทธิ์ระงับปวด

       ทดสอบฤทธิ์ระงับปวดในหนูถีบจักรเพศผู้สายพันธุ์ ICR โดยแบ่งหนูเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว หนูแต่ละกลุ่มจะได้รับสารสกัดเอทานอลของลำต้นสะค้าน (Piper interruptum Opiz) ในขนาด 300, 600 และ 1,200 mg/kg ตามลำดับ  ซึ่งกลุ่มควบคุมจะได้รับ 5% Tween80 และกลุ่มอ้างอิงจะได้รับ aspirin (300 mg/kg) และ morphine (10 mg/kg) วิธีทดสอบ Formalin Test แบ่งออกเป็น 2 phase คือ ระยะ early phase จะป้อนสารสกัดแก่หนูก่อน หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง จึงฉีด 1% formalin, 20 μL เข้าไปในชั้นใต้ผิวหนังบริเวณเท้าหลังด้านซ้ายของหนู (หากเป็น morphine จะฉีดเข้าช่องท้องหนูเป็นเวลา 30 นาที ก่อนฉีด formalin) บันทึกระยะเวลาที่หนูยกเท้าขึ้นเลีย ภายในเวลา 5 นาที หลังฉีด formalin ระยะ late phase จะฉีด formalin หลังป้อนสารสกัดแล้ว 40 นาที หรือหลังจากฉีด morphine แล้ว 10 นาที บันทึกระยะเวลาที่หนูยกเท้าขึ้นเลีย ภายในเวลา 20-30 นาที หลังฉีด formalin ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดสะค้านทุกขนาด สามารถยับยั้งอาการปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยออกฤทธิ์ต่อระยะ late phase ได้ดีกว่าระยะ early phase เช่นเดียวกับยามาตรฐาน aspirin และ morphine (Sireeratawong, et al., 2012)

 

การศึกษาทางคลินิก:          -

การศึกษาทางพิษวิทยา:      -

 

    เอกสารอ้างอิง:

1. สมภพ ประธานธุรารักษ์, นิจศิริ  เรืองรังษี, Michael G. Organ, Gordon L. Lange . การศึกษาทางพฤกษเคมีของลําต้นและผลตะค้าน.รายงานการวิจัย ทุนงบประมาณแผ่นดิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยม 2534.

2. สันทัฎฐ์  เลิศยนต์ชีพ. องค์ประกอบทางเคมีในลําต้นสะค้านพลู [วิทยานิพนธ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาเคมี].จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ; 2539.

3. Sireeratawong S, Itharat A, Lerdvuthisopon N, Piyabhan P, Khonsung P, Boonraeng S, et al. Anti-Inflammatory, analgesic and antipyretic activities of the ethanol extract of Piper interruptum Opiz. and Piper chaba L. ISRN pharmacology. 2012;2012:1-6.

 

ข้อมูลตำรับยาเบญจกูล  : www.thai-remedy.com

  

 


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting