เกสรบัวหลวง

ชื่อเครื่องยา

เกสรบัวหลวง

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ได้จาก

เกสรตัวผู้แห้งของดอกบัวหลวง

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

บัวหลวง

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

โช้ค (เขมร บุรีรัมย์) บัว อุบล (กลาง) บัวหลวง (กลาง) ปทุม (กลาง) สัตตบงกช (กลาง) สัตตบุษย์ (กลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Nelumbo nucifera Gaertn.

ชื่อพ้อง

Nelumbo caspica (Fisch.) Schipcz., Nelumbo komarovii Grossh., Nelumbo speciosa Willd., Nymphaea nelumbo L.

ชื่อวงศ์

Nelumbonaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา :
           ได้จากเกสรตัวผู้ของดอกบัวหลวง  เก็บเมื่อดอกบานเต็มที่ แยกเอาเฉพาะเกสรตัวผู้ นำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม เมื่อแห้ง จะเป็นเส้นมีสีเหลือง และมีกลิ่นหอม รสฝาด  เครื่องยาเกสรบัวหลวง พบว่ามีลักษณะภายนอกคือ  เกสรมีลักษณะเป็นเส้นบางๆ  ตรงกลางเห็นเป็นร่องลึกลงไป  ขนาดความยาว  0.6-2  เซนติเมตร  เส้นผ่านศูนย์กลาง  0.1 เซนติเมตร  สีเหลืองอ่อน หรือสีน้ำตาลเหลือง ส่วนก้านชูเกสรตัวผู้ เป็นรูปทรงกระบอกยาว 1.5-1.8 เซนติเมตร สีม่วงอ่อนมีกลิ่นหอมเฉพาะ  รสฝาด

 

เครื่องยา เกสรบัวหลวง


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี :
            ปริมาณความชื้นไม่เกิน 10%, ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 10%,ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรดไม่เกิน 1%, ปริมาณสารสกัดเฮกเซน ไดคลอโรมีเทน แอลกอฮอล์ และน้ำ เท่ากับ 7, 9, 7, 17 % w/w ตามลำดับ และพบองค์ประกอบหลักคือสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ และอัลคาลอยด์

สรรพคุณ :
           ตำรายาไทย:  เกสรบัวหลวง ใช้บำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่น บำรุงปอด บำรุงตับ บำรุงกำลัง คุมธาตุ แก้ล้ม แก้ไข้

           บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้เกสรบัวหลวง ร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ ใน “ตำรับยาเขียวหอม”  สรรพคุณ บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษสุกใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและสุกใส), "ตำรับยาตรีเกสรมาศ" ปรากฎการใช้เกสรบัวหลวง ร่วมกับเปลือกฝิ่นต้น และลูกมะตูมอ่อน มีสรรพคุณ แก้อ่อนเพลีย ปรับธาตุในผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นจากการเจ็บป่วย เช่น ไข้ ท้องเสีย นอกจากนี้ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม ของกองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า พิกัดตรีเกสรมาศ คือ จำนวนตัวยาเกสรทอง 3 อย่าง ได้แก่ เปลือกฝิ่นต้น เกสรบัวหลวง และลูกมะตูมอ่อน มีสรรพคุณ เจริญอาหาร บำรุงธาตุ คุมธาตุ บำรุงกำลัง แก้ท้องเดิน
           ตำรายาจีน: ใช้แก้ปัสสาวะบ่อย  แก้น้ำกามเคลื่อน (ฝันเปียก)  แก้ตกขาว ประจำเดือนมามากกว่าปกติ เลือดกำเดาไหล และแก้อาการท้องเสีย

รูปแบบและขนาดยาที่ใช้ :
           เมื่อใช้บำรุงหัวใจ เกสรปรุงเป็นยาหอมบำรุงหัวใจ บรรเทาอาการหน้ามืด วิงเวียนทำให้ชื่นใจ เป็นยาสงบประสาท ขับเสมหะ
           1. เกสรบัวหลวงสด หรือแห้งประมาณ 1 หยิบมือ ชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว (ประมาณ 240 มิลลิลิตร) ทิ้งไว้นาน 10-15 นาที ดื่มขณะที่ยังอุ่นอยู่ ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้ง      

           2. เกสรบัวหลวงแห้ง บดเป็นผงครั้งละ 0.5 -1 ข้อนชา ชงน้ำร้อนดื่มหรือใช้ในขนาด 3-5 กรัม

องค์ประกอบทางเคมี :
           เกสรบัว มีฟลาโวนอยด์หลายชนิด เช่น quercetin, luteolin, isoquercitrin, luteolin glucoside และมีรายงานพบแอลคาลอยด์ด้วย

การศึกษาทางเภสัชวิทยา :
            ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
            สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่พบในเกสรมีฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน โดยเกสรตัวผู้เมื่อทดสอบด้วยวิธีทางเคมี มีฤทธิ์จับอนุมูลอิสระ DPPH โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 42.05 ug/ml (คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา, 2551)

            การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเมทานอล และสารสกัดด้วยตัวทำละลายผสมของเฮกเซน:อะซิโตน:เมทานอล:โทลูอีน (10:7:6:7) ที่ได้จากเกสรบัวหลวง  4 ชนิด ได้แก่ บัวหลวงปทุม (ดอกตูมสีชมพูทรงแหลม รูปไข่ ปลายเรียว), บัวหลวงสัตตบงกช (ดอกตูมทรงป้อมสีชมพู), บัวหลวงบุณฑริก (ดอกตูมสีขาวทรงแหลม รูปไข่ ปลายเรียว) และบัวหลวงสัตตบุตย์ (ดอกตูมทรงป้อมสีขาว) ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองด้วยวิธีทางเคมี โดยใช้อนุมูลอิสระ DPPH (2,2-diphenyl-1-picrylhdrazyl)  ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเมทานอลของเกสรบัวหลวง 4 ชนิด คือ สัตตบงกช, สัตตบุษย์, บุณฑริก และปทุม สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ โดยมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 31.60±3.40, 40.90±1.50, 62.22±4.00 และ 68.30±6.30 g/mL ตามลำดับ สารสกัดด้วยตัวทำละลายผสมของเกสรบัวหลวง 4 ชนิด มีค่า IC50 เท่ากับ 1.29±0.02, 1.83±0.07, 2.23±0.05 และ 2.21±0.06 mg/mL ตามลำดับ สรุปได้ว่าบัวหลวงสัตตบงกชมีความสามารถในการกำจัดอนุมูลอิสระสูงที่สุด โดยสารสกัดเมทานอลออกฤทธิ์แรงกว่าสารสกัดผสม 40 เท่า (p<0.05, ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%) (Phonkot, et al., 2008)
           ฤทธิ์ต้านเบาหวาน 
            เกสรตัวผู้ยังมีฤทธิ์ยับยั้ง rat lens aldose reductase (RLAR) และ advance glycation end products (AGE) โดยมีค่า IC50 48.30 และ 125.48 ug/ml ตามลำดับ ซึ่งการยับยั้ง RLAR และ AGE มีผลต่อการลดการเกิดภาวะเบาหวาน
(Jung, 2008)

    ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลโดสรีดักเตสที่เลนส์ตา

           สารสกัดเมทานอลของเกสรตัวผู้บัวหลวงพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ชนิดนี้ที่เลนส์ตาของหนูแรทได้ จึงอาจช่วยลดอาการแทรกซ้อนที่ตาในผู้ป่วยเบาหวานได้ (เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานที่มีปริมาณกลูโคสในกระแสเลือดสูง   มักพบอาการแทรกซ้อนโดยเฉพาะที่ตา เป็นบริเวณที่มีปริมาณกลูโคสสะสมมาก ทําให้เอนไซมอัลโดสรีดักเทส เปลี่ยนกลูโคสเป็นสารซอร์บิทอลที่บริเวณเลนส์ตา และเรตินา ซึ่งซอร์บิทอลเป็นสารที่ไม่สามารถแพร่ผ่านเซลเมมเบรนได้จึงสะสมอยู่ภายในเลนส์ตาทำให้เกิดต้อกระจกได้) การทดสอบใช้สารสกัดด้วยตัวทำละลาย 3 ชนิด ได้แก่ ไดคลอโรมีเทน, เอทิลอะซีเตต และบิวทานอล ซึ่งสามารถแยกฟลาโวนอยด์จากสารสกัดเอทิลอะซิเตตได้ 13 ชนิด ได้แก่ kaempferol (1), glycosides (2-9), myricetin 3',5'-dimethylether 3-O-beta-d-glucopyranoside (10), quercetin 3-O-beta-d-glucopyranoside (11) และ isorhamnetin glycosides (12, 13) สารที่ไม่ใช่ฟลาโวนอยด์ 4 ชนิด ได้แก่ adenine (14), myo-inositol (15), arbutin (16) และ beta-sitosterol glucopyranoside (17) นำมาทดสอบฤทธิ์การยับยั้งเอนไซม์แอลโดสรีดักเตส พบว่าโครงสร้าง 3-O-alpha-l-rhamnopyranosyl-(1-->6)-beta-d-glucopyranoside ในring C ของฟลาโวนอยด์, kaempferol 3-O-alpha-l-rhamnopyranosyl-(1-->6)-beta-d-glucopyranoside (5) และ isorhamnetin 3-O-alpha-l-rhamnopyranosyl-(1-->6)-beta-d-glucopyranoside (13) มีค่า IC50  เท่ากับ 5.6 และ 9.0 ไมโครโมล่าร์ ตามลำดับ(Lim, et al., 2006)


การศึกษาทางพิษวิทยา :
           สารสกัดแอลกอฮอล์ของเกสรบัวหลวงขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม  โดยการป้อน  หรือฉีดใต้ผิวหนังหนูถีบจักร  ไม่ก่อเกิดความเป็นพิษ (นพมาศ และนงลักษณ์, 2551)

           การศึกษาความเป็นพิษในหนูทดลองโดยให้สารสกัดเอทานอลจากเกสรบัวหลวงโดยป้อนให้แก่หนูทดลอง การทดสอบพิษเฉียบพลัน ป้อนสารสกัด ในขนาด 5000 mg/kg ครั้งเดียว สังเกตผลภายใน 24 ชั่วโมง และติดตามอีก 14 วัน ผลการทดสอบ ไม่พบอาการพิษ ไม่พบการตายของหนู  และ การทดสอบพิษกึ่งเรื้อรัง ป้อนสารสกัด ขนาด  50, 100 และ 200 mg/kg/day เป็นเวลา 90 วัน ไม่พบพิษที่เกิดขึ้นกับหนูทดลอง น้ำหนักตัวไม่เปลี่ยนแปลง ยกเว้นเมื่อให้ยาในขนาด 200 mg/kg/day แก่หนูเพศเมีย ในวันที่ 90 พบว่าน้ำหนักหนูน้อยกว่ากลุ่มควบคุม แต่ไม่มีความผิดปกติของอวัยวะภายใน (Kunanusorna, et al., 2011)

 

ข้อควรระวัง:
           เกสรบัวหลวงอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ในบางคน (โดยเฉพาะคนที่แพ้เกสรดอกไม้)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา. บัญชียาจากสมุนไพร 2549. พิมพ์ครั้งที่ 2. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย:กรุงเทพมหานคร, 2551.

2. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, นงลักษณ์ เรืองวิเศษ. วิเคราะห์ วิจัย คุณภาพเครื่องยาไทย. คอนเซ็พท์ เมดิคัส จำกัด:กรุงเทพมหานคร, 2551.

3. Jung HA, Jung YJ, Yoon NY, Jeong DM, Bae HJ, Kim D-W, Na DH, Choi JS. Inhibitory effects of Nelumbo nucifera leaves on rat lens aldose reductase, advanced glycation endproducts formation, and oxidative stress. Food and Chemical Toxicology 2008:46: 3818–3826.

4. Kunanusorna P, Panthonga A, Pittayanurakb P, Wanauppathamkulc S, Nathasaend N, Reutrakul V. Acute and subchronic oral toxicity studies of Nelumbo nucifera stamens extract in rats. J Ethnopharmacology. 2011;134:789–795.

5. Lim SS, Jung YJ, Hyun SK, Lee YS, Choi JS. Rat lens aldose reductase inhibitory constituents of Nelumbo nucifera stamens. Phytother Res. 2006;20(10):825-830.

6. Phonkot N, Wangsomnuk P, Aromdee C. Antioxidant activity and DNA fingerprint of four varieties of lotus stamens (Nelumbo nucifera Gaertn.). Songklanakarin J Sci Technol. 2008;30(1):55-58.

 

ข้อมูลตำรับยาเขียวหอม     : www.thai-remedy.com

ข้อมูลตำรับยาตรีเกสรมาศ : www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting