โกฐชฎามังสี

ชื่อเครื่องยา

โกฐชฎามังสี

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

โกฐจุฬารส

ได้จาก

ราก และเหง้าแห้ง

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

โกฐชฎามังสี (spikenard)

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Nardostachys grandiflora DC.

ชื่อพ้อง

Nardostachys jatamansi (D.Don) DC., Patrinia jatamansi D.Don, Nardostachys chinensis

ชื่อวงศ์

Caprifoliaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
              เหง้าเป็นไม้เนื้อแข็ง เหง้าแห้งรูปทรงกระบอกยาว 2.5-7.5 เซนติเมตร สีน้ำตาลเข้ม มีรากย่อยสีน้ำตาลแกมแดงปกคลุมเป็นเส้นยาว อยู่โดยรอบหนาแน่น เหง้าเปราะ รอยหักสีน้ำตาลแกมสีแดง รากมีรสสุขุม ขม กลิ่นหอม มีกลิ่นแรงเฉพาะตัว  รสเผ็ดและขมเล็กน้อย

 

เครื่องยา โกฐชฏามังสี

 

เครื่องยา โกฐชฏามังสี

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
            ปริมาณน้ำไม่เกิน 12% v/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2 % w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 11% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 6.0% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอลไม่น้อยกว่า 2% w/w ปริมาณสารสกัดน้ำไม่น้อยกว่า 5% w/w ปริมาณน้ำมันระเหยง่ายไม่น้อยกว่า 1% v/w (THP)

 

สรรพคุณ:           

            ตำรายาไทย: เป็นยากระจายหนองที่เป็นก้อนอยู่ในร่างกาย  ขับพยาธิออกจากร่างกาย  แก้ไส้ด้วนไส้ลาม คือแผลเนื้อร้ายกินแต่ปลายองคชาติเข้าไปและองค์กำเนิดบวม  ขับโลหิตระดูเน่าเสีย  ขับประจำเดือน แก้ดีพิการ ช่วยย่อยอาหาร แก้พิษทั้งปวง แก้แผลเนื้อร้าย แก้รัตตะปิตตะโรค  แก้โลหิตอันเกิดแต่กองปิตตะสมุฏฐาน  แก้โรคปากในคอ  ขับลม  

            การแพทย์อายุรเวทของอินเดีย:  เหง้าและรากมีคุณสมบัติกระตุ้นและลดการเกร็ง  ใช้บำบัดโรคลมบ้าหมู  โรคฮิสทีเรีย  โรคที่มีอาการชักทุกชนิด  รวมทั้งโรคตา  แก้แผลพุพองปวด  บวมที่ผิวหนัง  โรคต่าง ๆ ที่เกิดในศีรษะ  อาการสะอึก  
           นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้โกฐชฎามังสีในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของโกฐชฎามังสีอยู่ในพิกัดโกฐทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง
           โกฐชฎามังสีเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ พืชชนิดนี้มีเขตกระจายพันธุ์ในบริเวณเทือกเขาหิมาลัย ในประเทศอินเดีย เป็นสมุนไพรนำเข้า  และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ”     โกฐชฎามังสีจัดอยู่ใน โกฐทั้งเก้า(เนาวโกฐ) สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดโกฐ คือ แก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง ขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก
           เครื่องยา“พิกัดโกฐ” ประกอบด้วย “พิกัดโกฐทั้ง 5” ได้แก่ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา มีสรรพคุณแก้ไข้เพื่อเสมหะ หืดไอ แก้โรคปอด โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต “พิกัดโกฐทั้ง 7” (มีโกฐกระดูก และโกฐก้านพร้าว เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณ แก้ไข้จับสั่น แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคในปอด แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก “พิกัดโกฐทั้ง 9”  (มีโกฐพุงปลา และโกฐชฎามังษี เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณแก้ไข้จับ แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคปอด แก้โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก บำรุงกระดูก แก้ไข้ในกองธาตุอติสาร แก้ไส้ด้วนไส้ลาม ขับระดูร้าย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
            ผงยา 2-3 กรัมต่อวัน

องค์ประกอบทางเคมี:
           แอนเจลิซิน (angelicin)  กรมจาทาแมนซิก  (jatamansic  acid)  จาทาแมนซิน  (jatamansin)  จาทาแมนซินอล  (jatamansinol)  จาทาแมนโซน  (jatamansone)  จาทามอลเอ  (jatamol A)  จาทามอลบี  (jatamol B)  พัตชูลิอัลกอฮอล์ (patchouli  alcohol)  

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
           ลดคอเลสเตอรอลในเลือด  ต้านการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ  ลดความดันโลหิต  เสริมฤทธิ์ยานอนหลับ  กดประสาทส่วนกลาง เพิ่มการเรียนรู้และความจำ คลายมดลูก ทำให้หัวใจเต้นช้า  ต้านการเต้นไม่เป็นจังหวะของหัวใจ  ฆ่าอสุจิ  กล่อมประสาท  ต้านหืด  ต้านแบคทีเรีย    ลดน้ำตาลในเลือด  ลดปริมาณกรดยูริก  ต้านการชัก  ลดไข้  ต้านการเกิดแผล

การศึกษาทางคลินิก:
          สารจาทาแมนโซนบี มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตสูง ชนิดปานกลางถึงรุนแรง


การศึกษาทางพิษวิทยา:
    สำหรับการทดสอบความเป็นพิษพบว่า  เมื่อฉีดสารสกัดรากด้วยแอลกอฮอล์-น้ำ (1 : 1)  เข้าช่องท้องหนูถีบจักร  ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งคือ  มากกว่า 1 ก/กก  การฉีดน้ำมันหอมระเหยเข้าช่องท้อง  พบว่าขนาดที่ทำให้สุนัขและหนูถีบจักรตายครึ่งหนึ่งคือ 93 มก/กก  และ 80.3 มก/กก  ตามลำดับ  ส่วนในหนูตะเภาและหนูขาวคือ 2 มล/กก  และ 1.5 มล/กก  ตามลำดับ  ส่วนสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 95%  ใช้ขนาด 1.25 ก/กก  เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรและเมื่อป้อนหนูขาวใช้  20 ก/กก


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting