เทียนดำ

ชื่อเครื่องยา

เทียนดำ

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ได้จาก

เมล็ด

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

เทียนดำ

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Nigella sativa L.

ชื่อพ้อง

Nigella cretica Mill.

ชื่อวงศ์

Ranunculaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           เมล็ดรูปสามเหลี่ยม ถึงห้าเหลี่ยม สีดำ เนื้อในสีขาว ขนาดกว้าง 1.4-1.8 มิลลิเมตร ยาว 2.5-3.0 มิลลิเมตร   เมล็ดแก่แห้ง มีสีดำสนิท ผิวนอกขรุขระ ไม่มีขน มีกลิ่นเล็กน้อย และค่อนข้างแข็ง หากใช้มือถูที่เมล็ด หรือนำเมล็ดไปบด จะได้กลิ่นหอม ฉุน มีรสชาติขม เผ็ด ร้อน คล้ายเครื่องเทศ

 

เครื่องยา เทียนดำ

 

เครื่องยา เทียนดำ

 

เครื่องยา เทียนดำ

 

เครื่องยา เทียนดำ

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ปริมาณน้ำไม่เกิน 7% w/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 4% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 7% w/w  ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 24% w/w  ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) ไม่น้อยกว่า 0.15% w/w  

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: เมล็ด รสเผ็ดขม ขับเสมหะให้ลงสู่คูทวาร ขับลมในลำไส้ ช่วยย่อย แก้ท้องอืด เฟ้อ แก้อาเจียน บำรุงโลหิต  ขับน้ำนม ขับปัสสาวะ ขับระดู บีบมดลูก แก้โรคลม ขับพยาธิ
           ตำรายาไทยแผนโบราณ: มีการใช้เมล็ดเทียนดำ ใน”พิกัดตรีรัตตะกุลา (ตรีสัตกุลา)” คือการจำกัด ตัวยาอันสามารถ 3 อย่าง ประกอบด้วย เหง้าขิงสด ผลผักชีลา และเทียนดำ ใช้อย่างละเท่าๆกัน ในการบำรุงธาตุไฟ ขับลมในลำไส้ แก้อาการธาตุ

          บัญชียาจากสมุนไพร ที่มี การใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้เมล็ดเทียนดำ ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ ตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของเทียนดำ อยู่ในพิกัดเทียนทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง ตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของเทียนดำ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ อาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ และตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของเทียนดำ และเทียนขาว ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ  ตำรับ “ยาประสะไพล” มีส่วนประกอบของเทียนดำ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ในสตรีที่ระดูมาไม่สม่ำเสมอ หรือมาน้อยกว่าปกติ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน  และขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร
           ถึงแม้ว่าเทียนดำเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ แต่เทียนดำ เป็นสมุนไพรที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เนื่องจากมีแหล่งกำเนิด แถบตะวันออกกลาง (ประเทศซีเรีย และเลบานอน) แต่ได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า พิกัดเทียน
           เครื่องยาพิกัดเทียน เทียนดำจัดอยู่ใน “พิกัดเทียน”  ที่ประกอบด้วย“พิกัดเทียนทั้ง 5” ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก และเทียนตาตั๊กแตน “พิกัดเทียนทั้ง 7” (มีเทียนเยาวพาณี และเทียนสัตตบุษย์ เพิ่มเข้ามา) “พิกัดเทียนทั้ง 9” (มีเทียนตากบ และเทียนเกล็ดหอย เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดเทียน คือ ช่วยขับลม แก้อาเจียน บำรุงโลหิต และใช้ในตำรับยาหอม
 
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ยาผง ขนาด 2-6 กรัม  ใช้ในรูปเมล็ดขนาด 0.6-1.2 กรัม หรือใช้ เมล็ด 1 ช้อนชา ชงเป็นชาร้อน

องค์ประกอบทางเคมี:
           น้ำมันระเหยยาก (fixed oil) เช่น linoleic acid, oleic acid, palmitic acid ประมาณ 30%
           น้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) ประมาณ 0.5-1.5% โดยมีองค์ประกอบหลักของน้ำมันระเหยง่ายเป็นอนุพันธ์ของควิโนน คือ thymoquinone คิดเป็น 54% ของน้ำมันระเหยง่ายที่พบทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบ p-cymene, dithymoquinone, thymohydroquinone, thymol, trans-anethole,  limonene, carvone, carvacrol, 4-terpineol
           สารอัลคาลอยด์ เช่น nigellidine, nigellimine, nigellicine   
           สารซาโปนิน  เช่น  alpha-hederin

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
           ระบบทางเดินหายใจ: น้ำมันจากเมล็ดในขนาด 4-32 ไมโครลิตร/กก. เพิ่มแรงดันภายในหลอดลม (Gali-Muhtasib, et al., 2006) สาร nigellone ป้องกันภาวะหลอดลมตีบที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยสารฮีสตามีนในหนู ลดการหดเกร็งของหลอดลม (Duke, et al., 2002)
           ระบบหัวใจ และหลอดเลือด: น้ำมันจากเมล็ดในขนาด 4-32 ไมโครลิตร/กก. หรือสาร thymoquinone ในขนาด 0.2-1.6 มก/กก. ลดอัตราการเต้นของหัวใจ และลดความดันโลหิต สารสกัดไดคลอโรมีเทนเมื่อให้หนูที่เป็นความดันกินในขนาด 0.6 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน เป็นเวลา 15 วัน เมื่อวัดความดันโลหิตเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน nifedipine พบว่าสารสกัดลดความดันได้ 22% ในขณะที่ nifedipine ลดความดันได้ 18%  และยังทำให้การขับปัสสาวะเพิ่มขึ้น และเพิ่มการขับ โซเดียม คลอไรด์ โปแตสเซียมอิออน และยูเรียทางปัสสาวะ สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์จากเมล็ด ยับยั้ง fibrinolytic activity ทำให้ระยะเวลาที่เลือดไหลลดลงในกระต่าย (Gali-Muhtasib, et al., 2006)

           ฤทธิ์ของเทียนดำต่อกระเพาะอาหาร

           เมื่อให้น้ำมันจากเมล็ดเทียนดำ แก่หนูขาวเพศผู้ พบว่าจะทำให้เพิ่มปริมาณการหลั่งของสารเมือก, glutathione และลดปริมาณ histamine ที่บริเวณเยื่อเมือกในกระเพาะอาหาร และจากการทดลองในหนูที่ได้รับน้ำมันจากเมล็ดเทียนดำก่อนที่จะถูกชักนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยเอทานอลพบว่า น้ำมันจากเมล็ดเทียนดำสามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 53.56% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ซึ่งไม่ได้รับน้ำมันจากเมล็ดเทียนดำ โดยคาดว่าเกิดจากการเพิ่มระดับ glutathione ซึ่งเป็น cofactor ในการสังเคราะห์ให้ได้ PGE2 ซึ่งเป็นพรอสตาแกลนดินชนิดปกป้องกระเพาะอาหารจากกรด (El-Dakhakhny, et al, 2000)
           ฤทธิ์ต้านจุลชีพ: สารสกัดไดเอทิลอีเทอร์จากเมล็ดสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียกรัมบวก Staphylococcus aureus, เชื้อแบคทีเรียกรัมลบ Pseudomonas aeruginosa, Escherichia coli, เชื้อยีสต์ Candida albican นอกจากนี้สารสกัดน้ำจากเมล็ดยังสามารถยับยั้งแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด (Gali-Muhtasib, et al., 2006)

           ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอาหารเป็นพิษ และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ:

           การทดสอบฤทธิ์ของน้ำมันระเหยง่ายจากเมล็ดเทียนดำในการยับยั้งเชื้อ V. parahaemolyticus ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมลบ ที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษ หรือทางเดินอาหารอักเสบ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเชื้อนี้เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางบาดแผล และการติดเชื้อในกระแสโลหิตได้ การทดสอบนี้ใช้เชื้อแบคทีเรีย Vibrio 28 สายพันธุ์ ทดสอบด้วยวิธี agar disc diffusionและหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งเชื้อ (MIC) ด้วยวิธี agar dilution พบว่าน้ำมันระเหยง่ายจากเมล็ดเทียนดำ สามารถยับยั้งเชื้อ V. parahaemolyticus ได้ทุกสายพันธุ์ และออกฤทธิ์ดีที่สุดในการยับยั้งสายพันธุ์ Dahv2 โดยมีขนาดของโซนใสในการยับยั้งเท่ากับ 23.9 มิลลิเมตร ที่ความเข้มข้น 101.2 μg/ml มีค่า MIC เท่ากับ 100 μg/ml  ผลการยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์มซึ่งเป็นโครงสร้างยึดเกาะกับพื้นผิว สร้างโดยกลุ่มของแบคทีเรียที่อาศัยอยู่รวมกัน ประกอบด้วยสารต่างๆ หลายชนิด ทำหน้าที่เป็นชั้นปกป้องแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ภายใน รวมทั้งสร้างสภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่อยู่ภายในไบโอฟิล์ม ผลการทดสอบพบว่าน้ำมันระเหยง่ายจากเมล็ดเทียนดำสามารถยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์มของเชื้อได้อย่างสมบูรณ์ที่ความเข้มข้น 101.2 μg/ml  การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง ด้วยวิธี beta-carotene bleaching พบว่าที่ความเข้มข้น 70 μg/ml  สามารถยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของกรดไขมัน linoleic acid ได้เท่ากับ 64.47±2.00% (Manju, et al., 2016)
           ฤทธิ์ฆ่าพยาธิ: ทดสอบในเด็กที่เป็นพยาธิ เมื่อให้สารสกัดเอทานอลจากเมล็ด โดยการรับประทานในขนาด 40 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สามารถลดจำนวนไข่พยาธิในอุจจาระ  การให้น้ำมันจากเมล็ดแก่หนูที่ติดเชื้อพยาธิใบไม้ Schistosoma mansoni เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ พบว่าสามารถลดจำนวนพยาธิที่ตับ และลดจำนวนไข่พยาธิในตับ และลำไส้ได้ (Gali-Muhtasib, et al., 2006)
           ฤทธิ์ต้านไวรัส: การให้น้ำมันจากเมล็ด โดยการฉีดเข้าทางช่องท้องของหนู พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อเฮอร์ปีส์ ที่ตับ และม้าม ได้ในวันที่ 3 ของการติดเชื้อ โดยในวันที่ 10 ไม่พบเชื้อ และสามารถเพิ่มระดับ interferon gamma เพิ่มจำนวน CD4 helper T cell  ลดจำนวน macrophage ได้ (Gali-Muhtasib, et al., 2006)
           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ: สาร thymoquinone และน้ำมันจากเมล็ด ยับยั้งการหลั่งสารที่ทำให้เกิดการอักเสบหลายชนิด เช่น thromboxane B2, leucotrein B4, cyclooxygenase, lipoxygenase เป็นต้น, สาร nigellone ยับยั้งการปลดปล่อยฮีสตามีน จากช่องท้องหนู (Gali-Muhtasib, et al., 2006)
           ฤทธิ์ต้านมะเร็ง: สาร thymoquinone และ dithymoquinone มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว ตับอ่อน มดลูก เต้านม รังไข่ และลำไส้ได้ในหลอดทดลอง สารสกัดเอทิลอะซีเตต ยับยั้งมะเร็งเม็ดเลือดขาวในหนูได้  สารซาโปนิน alpha-hederin ยับยั้งการเกิดเนื้องอกในหนูได้ 60-70% (Gali-Muhtasib, et al., 2006)
           ฤทธิ์ยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดชัน: สาร  thymoquinone  มีฤทธิ์ยับยั้งปฏิกิริยา lipid peroxidation สาร trans-anethole, carvacrol, 4-terpineol ออกฤทธิ์ดีในการจับ superoxide anion
           ฤทธิ์ปกป้องตับ และไต: สาร thymoquinone ป้องกันตับจากสารพิษคาร์บอนเตตราคลอไรด์  และยับยั้งการเกิด lipid peroxidation  และป้องกันไตจากภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) โดยการจับกับ superoxide และยับยั้งการเกิด lipid peroxidation (Gali-Muhtasib, et al., 2006)

           ฤทธิ์เพิ่มประสิทธิภาพ และการทำงานของไต

           การศึกษาผลของสารสกัดเทียนดำต่อพยาธิสรีรวิทยาของไต ในหนูที่ถูกชักนำให้เป็นเบาหวานด้วยสารสเตรปโตโซโทซิน  ทำการทดลองในหนู 4 กลุ่ม คือ หนูกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ให้สารสกัดเทียนดำ (CON), หนูกลุ่มควบคุมที่ให้สารสกัดเทียนดำ (CON-BC), หนูกลุ่มที่เป็นโรคเบาหวานที่ไม่ให้สารสกัดเทียนดำ (STZ) และหนูกลุ่มที่เป็นโรคเบาหวานที่ให้สารสกัดเทียนดำ (STZ-BC) ทำการป้อนสารสกัดเทียนดำแก่หนูกลุ่ม CON-BC และ STZ-BC ทุกวัน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ เพื่อศึกษาผลต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือด  ระบบไหลเวียนเลือดภายในไต การทำงานของโกลเมอรูลัส และหลอดไตฝอย ศึกษาพยาธิสภาพของโกลเมอรูลัส โดยการย้อม periodic acid-schiff เพื่อดูการสะสมของสารพวก collagen ใน mesangium และดูการหนาตัวของผนังหลอดเลือดฝอยโกลเมอรูลัส ผลการทดลองพบว่าหนูที่เป็นเบาหวานเมื่อได้รับสารสกัดเทียนดำ มีแนวโน้มในการลดระดับกลูโคสในเลือด มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ของค่าความดันโลหิต systolic pressure และอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการกรองของไต อัตราการไหลของเลือด และพลาสมาเข้าสู่ไต มีการลดลงของค่า filtration fraction และความต้านทานของหลอดเลือดภายในไต หลอดไตฝอยมีการขับทิ้งของน้ำ และแมกนีเซียมไอออนลดลง ผลด้านพยาธิสภาพของไตพบว่าจำนวนโกลเมอรูลัสที่ผิดปกติลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งสอดคล้องกับค่าดัชนีชี้วัดการเกิดพยาธิสภาพของไตซึ่งมีแนวโน้มลดลง  และประสิทธิภาพการทำงานของไตที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุปว่าสารสกัดเทียนดำสามารถลดการเกิดพยาธิสภาพของไต และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของไต และระบบไหลเวียนเลือดภายในไต ของหนูที่ถูกชักนำให้เป็นเบาหวานโดยใช้สเตรปโตโซโทซิน (มาเรียม และศุภางค์, 2553)
           ฤทธิ์ยับยั้งอาการปวด: สารสกัดน้ำจากเมล็ด ลดปวดในหนูที่ทดสอบด้วยวิธี hot plate แต่ไม่มีฤทธิ์ลดไข้ (Gali-Muhtasib, et al., 2006)

           ฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด

           การทดสอบสารสกัดส่วนที่ละลายในเมทานอลของเมล็ดเทียนดำ ซึ่งเตรียมด้วยวิธีบีบเมล็ดเทียนดำ และแยกสารบริสุทธิ์จากสารสกัดเมทานอล 3 ชนิด ได้แก่ 2-(2-methoxypropyl)-5-methyl-1,4-benzenediol, thymolและ carvacrol นำมาทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ในหลอดทดลอง โดยใช้เลือดกระต่าย การเหนี่ยวนำการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดด้วย arachidonic acid  ผลการทดสอบของสารบริสุทธิ์ทั้ง 3 ชนิด และอนุพันธ์ชนิด acetate ของสารทั้งสาม แสดงฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 6.7, 7.0, 11.7, 62.1, 2.6 และ 6.8 M ตามลำดับ ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งได้มากกว่ายามาตรฐานแอสไพริน (IC50 เท่ากับ 343.6 M) (Enomoto, et al, 2001)



การศึกษาทางคลินิก:
          ฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบ

          การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของน้ำมันระเหยยากของเทียนดำ เมื่อให้ร่วมกับอาหารที่จำกัดแคลลอรี ทำการทดลองแบบ randomized double-blind, placebo-controlled clinical trial ในอาสาสมัครหญิงที่มีภาวะอ้วน จำนวน 90 คน (body mass index = 30–34.9 kg/m2) มีอายุระหว่าง  25–50 ปี แบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่1 ได้รับน้ำมันเทียนดำในรูปแบบ soft gel capsules 3 กรัมต่อวัน (ครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง) ก่อนอาหาร 30 นาที ร่วมกับอาหารที่จำกัดแคลลอรี และกลุ่มที่ 2 ได้รับเฉพาะอาหารที่จำกัดแคลลอรี ทดลองเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำมันเทียนดำ ร่วมกับอาหารที่จำกัดแคลลอรี ไม่มีการรายงานการเกิดผลข้างเคียง ผลการวัดระดับ TNF-α, high sensitivity C-reactive protein (hs-CRP) และ interleukin-6 (ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นในขบวนการอักเสบ และเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะระดับน้ำตาล และไขมันในเลือดสูง ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด)เมื่อสิ้นสุดการทดสอบพบว่าระดับ TNF-α ในเลือด ของกลุ่ม1 และกลุ่ม 2 ลดลง 40.8% และ 16.1%, (P = 0.04) ตามลำดับ และลดระดับ hs-CRP ในเลือดได้เท่ากับ 54.5% และ 21.4% ตามลำดับ (P = 0.01) แต่ไม่มีผลต่อระดับ interleukin-6 แสดงว่าน้ำมันเทียนดำเมื่อให้ร่วมกับอาหารที่จำกัดแคลลอรี มีประสิทธิภาพในการต้านการอักเสบในหญิงที่มีภาวะอ้วนได้ดีกว่าการได้รับเฉพาะอาหารที่จำกัดแคลลอรีเพียงอย่างเดียวการศึกษาองค์ประกอบของกรดไขมันในน้ำมันระเหยยากจากเมล็ดเทียนดำพบ Linoleic acid (18:2) 56.84%, Oleic acid 27.74%, Palmitic acid (16:0) 13.58% (Mahdavi, et al., 2016) 

         ฤทธิ์รักษาอาการไม่สบายท้อง

        การศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของน้ำมันระเหยยากจากเมล็ดเทียนดำ ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่สบายท้อง (functional dyspepsia) ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติของทางเดินอาหารส่วนต้นบริเวณรอยต่อระหว่างกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนดูโอดีนัม แต่การส่องกล้องทางเดินอาหารจะไม่พบความผิดปกติ โดยทำการทดลองแบบ double-blind randomized placebo-controlled clinical trial ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการ functional dyspepsia ตามเกณฑ์การวินิจฉัยของ ROME III criteria และทำการยืนยันโดยใช้การส่องกล้องตรวจในทางเดินอาหารจำนวน 70 คน แล้วทำการสุ่มออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกได้รับน้ำมันเทียนดำปริมาณ 5 มิลลิลิตร วันละหนึ่งครั้ง  กลุ่มที่สองได้รับยาหลอก เมื่อผ่านไป 8 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินความรุนแรงของอาการไม่สบายท้อง โดยใช้เกณฑ์ของ Hong Kong index of dyspepsia severity และได้รับการตรวจเชื้อ Helicobacter pylori โดยใช้การทดสอบเอนไซม์ยูเรียเอส (urease test) เนื่องจากการติดเชื้อ H. pylori  ในผู้ป่วย dyspepsia ทำให้การควบคุมการหลั่งกรดเสียสมดุลไป และการเสียสมดุลในการหลั่งกรดดังกล่าวจะดีขึ้นหลังกำจัดเชื้อ H. pylori ผลการทดลองพบว่าค่าคะแนนเฉลี่ยจากการประเมินความรุนแรงของอาการไม่สบายท้องและอัตราของการติดเชื้อ H. pylori  มีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในผู้ป่วยที่ได้รับน้ำมันเทียนดำ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (P<0.001) และไม่มีการรายงานการเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงจากการศึกษานี้ (Mohtashami, et al., 2015) 

      ฤทธิ์ลดไขมันในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

      การศึกษาทางคลินิกในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนอายุ 45-60 ปี โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มแรก จำนวน 19 คน ให้รับประทานแคปซูลผงเมล็ดเทียนดำ ขนาด 1 กรัม หลังอาหารเช้าทุกวัน และกลุ่มที่ 2 จำนวน 18 คน ให้รับประทานยาหลอก ทดสอบเป็นเวลา 2 เดือน ทำการวัดระดับไขมันในเลือดก่อนเริ่มการทดสอบ และช่วงระหว่างการทดสอบทุกเดือน ผลการทดสอบพบว่า เทียนดำช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอไรด์ และ LDL (low density lipoprotein cholesterol) ได้อย่างมีนัยสำคัญ และเพิ่มระดับ HDL (high density lipoprotein cholesterol) ได้ดีกว่ากลุ่มยาหลอกแต่ไม่มีนัยสำคัญ ดังนั้นเทียนดำอาจนำมาใช้ในการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือเพื่อลดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาแผนปัจจุบัน (Ibrahim, etal., 2014)

      ผลต่ออารมณ์ ความวิตกกังวล และความจำ

     การศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครวัยรุ่นเพศชายสุขภาพดี อายุระหว่าง 14 – 17 ปี จำนวน 48 คน โดยแบ่งเป็น กลุ่ม A และ B ซึ่งกลุ่ม A จะได้รับแคปซูลยาหลอกขนาด 500 มก./วัน ส่วนกลุ่ม B จะได้รับแคปซูลที่มีผงเมล็ดเทียนดำ ขนาด 500 มก./วัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าที่ระยะเวลาในการทดสอบ 4 สัปดาห์ เมล็ดเทียนดำสามารถทำให้อารมณ์ของอาสาสมัครมีความคงที่ อาการวิตกกังวลลดลง และมีแนวโน้มในการเพิ่มความจำ (Sayeed, et al, 2014)

      ฤทธิ์ลดความดันโลหิต

      การศึกษาผลของน้ำมันเมล็ดเทียนดำในการลดความดันโลหิตในอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 70 คน อายุระหว่าง 34-63 ปี ที่มีค่าแรงดันในหลอดเลือดเมื่อหัวใจบีบตัว (Systolic) 110-140 มม.ปรอท และ ค่าแรงดันในหลอดเลือดเมื่อหัวใจคลายตัว (Diastolic) 60-90 มม.ปรอท โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับน้ำมันเทียนดำ ขนาด 2.5 มล. 2 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ผลพบว่าความดันทั้งสองช่วงของกลุ่มที่ได้รับน้ำมันเทียนดำจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ขณะที่ค่าอื่นๆ เช่น ดัชนีมวลกาย (body mass index) ระดับของเอนไซม์ aspartate transaminase, alanine transaminase, alkaline phosphatase ระดับของครีตินิน และยูเรียในเลือด ไม่เปลี่ยนแปลง และไม่พบอาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับน้ำมันเทียนดำ สรุปได้ว่าการรับประทานน้ำมันเทียนดำ ขนาด 5 มล. ต่อวัน นาน 8 สัปดาห์ มีผลลดความดันโลหิตได้ โดยปราศจากอาการไม่พึงประสงค์ (Huseini, et al, 2013)

     ฤทธิ์บำรุงสมอง

     การศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครสูงอายุ และมีสุขภาพดีจำนวน 40 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานยาแคปซูลที่บรรจุเมล็ดเทียนดำ ขนาด 500 มก. วันละ 2 ครั้ง และกลุ่มที่ 2 ให้รับประทานยาหลอกในขนาดเดียวกัน ใช้เวลาในการทดลอง 9 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่รับประทานเทียนดำจะมีความจำ ความสนใจ และการทำงานของสมองดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก และที่ขนาดดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่ออวัยวะภายใน แสดงให้เห็นว่าเทียนดำมีฤทธิ์เพิ่มความจำให้กับผู้สูงอายุ และมีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเป็นยา หรือผลิตภัณฑ์สำหรับชะลออาการของโรคอัลไซเมอร์ได้ (Sayeed, et al, 2013)

 

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           สาร thymoquinone และ thymohydroquinone เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนู พบว่ามีขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งเท่ากับ 10 และ 25 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตามลำดับ (Gali-Muhtasib, et al., 2006)
           สาร thymoquinone ทำให้เกิดการระคายเคือง และเกิดผื่นแพ้สัมผัสที่ผิวหนังได้ (Gali-Muhtasib, et al., 2006)
           ปริมาณน้ำมันระเหยยากที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่งมีค่าเท่ากับ 28.8 มิลลิลิตร/กิโลกรัม เมื่อป้อนทางปาก และมีค่าเท่ากับ 2.06 มิลลิลิตร/กิโลกรัม เมื่อฉีดเข้าช่องท้อง (นพมาศ และนงลักษณ์, 2551)
           สารสกัดเมล็ดด้วย 50% เอทานอล เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร มีขนาดสูงสุดที่สัตว์ทดลองทนได้เท่ากับ 250 มก./กก. สารสกัดเมล็ดด้วย 70% เอทานอล เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร พบว่ามีขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งเท่ากับ 0.561 ก/กก. สารสกัดเมล็ดด้วย 95% เอทานอล ไม่มีพิษเมื่อผสมลงในอาหารหนูขาว 0.5%  การทดลองให้กระต่ายกินเมล็ดขนาด 2-8 ก/กก ไม่พบพิษ (นันทวัน และอรนุช, 2541)
           น้ำมันจากเมล็ดเมื่อให้หนูกินในขนาด 1 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ไม่เป็นพิษ โดยพบว่าทำให้น้ำหนักตัวลดลง แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงระดับเอนไซม์ในตับ และเนื้อเยื่อตับ ไต หัวใจ ตับอ่อนไม่เปลี่ยนแปลง  ค่าระดับคลอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์  ระดับกลูโคส จำนวนเม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดลดลง (Gali-Muhtasib, et al., 2006) (นพมาศ และนงลักษณ์, 2551)
           ถึงแม้จะพบว่าการบริโภคเมล็ดเทียนดำปลอดภัยในรายงานหลายฉบับ แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน (Gali-Muhtasib, et al., 2006)

          การศึกษาความเป็นพิษและความปลอดภัยของน้ำมันเทียนดำ และสารสกัด ในหนูขวสายพันธุ์ Sprague Dawley ที่เหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวานโดยใช้ streptozotocin ทำการทดลองในหนูเพศผู้ อายุ 6-7 สัปดาห์ จำนวน 30 ตัว โดยแบ่งหนูออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มควบคุม ส่วนกลุ่มที่สองได้รับสารสกัดเทียนดำส่วนที่เป็น lipid fraction 4%และกลุ่มที่สามได้รับสารสกัดเทียนดำจากส่วน volatile fraction 0.3% เมื่อผ่านไป 56  วัน ของการศึกษา พบว่าในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเทียนดำทั้งสองกลุ่ม ไม่มีการเกิดพิษหรืออาการไม่พึงประสงค์ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมและลดอาการต่างๆที่เกิดจากภาวะเบาหวานให้บรรเทาลง ได้แก่ ภาวะไตเป็นพิษ ความไม่สมดุลของค่าทางชีวเคมีต่างๆในเลือด โดยเฉพาะสารสกัดเทียนดำจากส่วนvolatile fractionออกฤทธิ์อย่างมีนัยสำคัญ ได้ดีกว่าส่วนที่เป็น lipid fraction จากการศึกษานี้จึงสรุปว่าสารสกัดจากเทียนดำไม่ก่อให้เกิดพิษในหนูที่เป็นเบาหวานจึงมีศักยภาพในการนำไปใช้เป็นอาหารเสริมประจำวันแก่คนที่เป็นเบาหวาน (Sultan, et al., 2014) 

        การศึกษาพิษเฉียบพลันของน้ำมันระเหยยากจากเมล็ดเทียนดำในหนูถีบจักร โดยป้อนน้ำมันเทียนดำเข้าทางปากและฉีดเข้าทางหน้าท้อง ผลการศึกษาพบว่า ค่า LD50 เมื่อให้ทางปาก และฉีดเข้าหน้าท้อง เท่ากับ  28.8และ 2.06 mL/kg ตามลำดับ การศึกษาพิษเรื้อรังในหนูขาวโดยการป้อนน้ำมันเทียนดำขนาด 2 mL/kg เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับเอนไซม์ตับ ได้แก่ aspartate-aminotransferase, alanine-aminotransferase และ gamma-glutamyl transferase และเนื้อเยื่อหัวใจ ตับ ไต และตับอ่อน ไม่เปลี่ยนแปลง ระดับ serum cholesterol, triglyceride กลูโคส จำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด leukocyte และเกล็ดเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ระดับฮีมาโตคริต และฮีโมโกลบินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยสรุปน้ำมันระเหยยากจากเมล็ดเทียนดำ มีพิษในระดับต่ำ ค่า LD50 สูง ค่าเอนไซม์ตับยังคงเดิม แต่ต้องพิจารณาจำนวน เม็ดเลือดขาว leukocyte และเกล็ดเลือด  การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันระเหยยากจากเมล็ดเทียนดำ ด้วยวิธี TLC พบองค์ประกอบได้แก่ myristic, palmitic, stearic, oleic, linoleic, linolenic, arachidic acids, triterpenes และsaponosides (Zaoui, et al, 2002)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, นงลักษณ์ เรืองวิเศษ. วิเคราะห์ วิจัย คุณภาพเครื่องยาไทย. คอนเซ็พท์ เมดิคัส จำกัด: กรุงเทพมหานคร, 2551.

2. นันทวัน บุณยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน 2. บริษัท ประชาชน จำกัด:กรุงเทพมหานคร, 2541.

3. มาเรียม อยู่สุขสวัสดิ์, ศุภางค์ มณีศรี เลอกรองด์. ผลของสารสกัดเทียนดำ (Nigella sativa) ต่อพยาธิสรีรวิทยาของไตในหนูที่ถูกชักนำให้เป็นเบาหวานด้วยสารสเตรปโตโทซิน. โครงการวิจัยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2553.

4. Duke JA, Bogenschutz-Godwin MJ, duCellier J, Duke P-A. Handbook of Medicinal  Herbs. 2nd. CRC Press: Washinton D.C., 2002.

5. El-Dakhakhny M, Barakat M, Abd El-Halim M, Aly SM. Effects of Nigella sativa oil on gastric secretion and ethanol induced ulcer in rats. J Ethnopharmacology. 2000;72:299–304.

6. Enomoto S, Asano R, Iwahori Y, Narui T, Okada Y, Singab ANB, et al. Hematological studies on black cumin oil from the seeds of Nigella sativa L. Biol Pharm Bull. 2001;24(3):307-310.

7. Gali-Muhtasib H, El-Najjar N, Schneider-Stock R. The medicinal potential of black seed (Nigella sativa) and its componentsInM.T.H. Khan and A. Ather (eds.) Lead  Molecules from Natural Products. Elsevier B.V.,2006.

8. Huseini HF, Amini M, Mohtashami R, Ghamarchehre ME, Sadeqhi Z, Kianbakht S, et al. Blood pressure lowering effect of Nigella sativa L. seed oil in healthy volunteers: A randomized, double-blind, placebo-controlled clinical trial. Phytother Res. 2013;27:1849–1853.

9. Ibrahim RM, Hamdan NS, Mahmu R, Imam MU, Saini SM, Rashid SNA, et al. A randomised controlled trial on hypolipidemic effects of Nigella sativa seeds powder in menopausal women. J Transl Med. 2014;12:82-88.

10. Mahdavi R, Namazi N, Alizadeh M, Farajnia S. Nigella sativa oil with a calorie-restricted diet can improve biomarkers of systemic inflammation in obese women: A randomized double-blind, placebo-controlled clinical trial. Journal of Clinical Lipidology. 2016;10:1203-1211.

11. Manju S, Malaikozhundan B, Withyachumnarnkul B, Vaseeharan B. Essential oils of Nigella sativa protects Artemia from the pathogenic effect of Vibrio parahaemolyticus Dahv2. Journal of invertebrate pathology.2016;136: 43-49.

12. Mohtashami R, Huseini HF, Heydari M, Amini M, Sadeqhi Z, Ghaznavi H, et al. Efficacy and safety of honey based formulation of Nigella sativa seed oil in functional dyspepsia: A double blind randomized controlled clinical trial. J Ethnopharmacology. 2015;175:147-152.

13. Sayeed MSB, Asaduzzaman Md, Morshed H, Hossain M, Kadir MF, Rahman R. The effect of Nigella sativa L. seed on memory, attention and cognition in healthy human volunteers. J Ethnopharmacology. 2013;148:780-786.

14. Sayeed MSB, Shams T, Hossain SF, Rahman R, Mostofa AGM, Kadir MF, et al. Nigella sativa L. seeds modulate mood, anxiety and cognition in healthy adolescent males. J Ethnopharmacol. 2014;152:156-162.

15. Sultan MT, Butt MS, Karim R, Ahmad AN, Suleria HAR, Saddique MS. Toxicological and safety evaluation of Nigella sativa lipid and volatile fractions in streptozotocin induced diabetes mellitus. Asian Pac J Trop Dis. 2014;4 (suppl2):S693-S697.

16. Zaoui A, Cherrah Y, Mahassini N, Alaoui K, Amarouch H, Hassar M. Acute and chronic toxicity of Nigella sativa fixed oil. Phytomedicine. 2002;9:69-74.

 

ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ   : www.thai-remedy.com

ข้อมูลตำรับยาประสะไพล   :  www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting