เพกา

ชื่อเครื่องยา

เพกา

ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ได้จาก

เปลือกต้น

ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา

เพกา

ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)

ลิ้นฟ้า(เลย) ลิ้นก้าง ลิ้นช้าง(ไทยใหญ่) เพกา (ภาคกลาง) มะลิดไม้ มะลิ้นไม้ ลิดไม้ (ภาคเหนือ) หมากลิ้นก้าง หมากลิ้นซ้าง (ฉาน ภาคเหนือ) กาโด้โด้ง (กะเหรี่ยง กาญจนบุรี) ด๊อกก๊ะ ดอก๊ะ ดุแก (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) เบโก (มาเลย์ นราธิวาส)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Oroxylum indicum (L.) Kurz

ชื่อพ้อง

Arthrophyllum ceylanicum Miq. Arthrophyllum reticulatum Blume ex Miq. Bignonia indica L. Bignonia lugubris Salisb. Bignonia pentandra Lour. Bignonia quadripinnata Blanco Bignonia tripinnata Noronha Bignonia tuberculata Roxb. ex DC. Calosanthes indica (L.) Blume Hippoxylon indica (L.) Raf. Oroxylum flavum Rehder Spathodea indica

ชื่อวงศ์

Bignoniaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาลครีมอ่อน หรือเทาอ่อน อาจแตกเป็นรอยตื้นๆ เล็กน้อย  หรือเป็นสะเก็ดสี่เหลี่ยม มีรูระบายอากาศ กระจายอยู่ทั่วไป เปลือกหนาประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร เปลือกใน มีสีเขียวอมเหลือง เปลือกต้นมีรสฝาด ขม เย็น  มีกลิ่นเฉพาะ

 

เครื่องยา เปลือกเพกา

 

เครื่องยา  เปลือเพกา

 

 

เครื่องยา  เปลือกเพกา

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ไม่มีข้อมูล
 
สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: เปลือกต้น รสฝาด ขม เย็น ช่วยสมานแผล ดับพิษกาฬ แก้ร้อนใน แก้ท้องร่วง ทำให้น้ำเหลืองเป็นปกติ ดับพิษโลหิต บำรุงโลหิต  แก้เสมหะจุกคอ  ขับเสมหะ  แก้บิด  แก้อาการจุกเสียด แก้ไข้รากสาด  แก้ฝี  รักษามะเร็งเพลิง  ขับเหงื่อ  แก้ไขข้ออักเสบชนิดเฉียบพลัน  ช่วยเจริญอาหาร
           แพทย์ในชนบท: ใช้ตำผสมกับเหล้าโรงพ่นตามตัวสตรีที่ทนอยู่ไฟไม่ได้ให้ผิวหนังชา ตำผสมกับน้ำส้มมดแดง และเกลือสินเธาว์ กินเป็นยาขับลมในลำไส้ แก้บิด แก้อาเจียนไม่หยุด ต้มน้ำกินเป็นยาขับเสมหะ แก้เสมหะจุกคอ ขับเลือดเน่าในเรือนไฟ บำรุงโลหิต แก้บิด แก้จุกเสียด ฝนกับเหล้ากวาดปาก แก้พิษซางเม็ดสีเหลือง แก้ละออง แก้ซางเด็ก ทาแก้ปวดฝี แก้ฟกบวม นอกจากนี้เปลือกเพกาใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ แก้เบาหวาน  แก้โรคมานน้ำ  เปลือกต้มรวมกับสมุนไพรหลายชนิด  แยกเอาน้ำมันมาทาแก้องคสูตร  แก้ริดสีดวงทวารหนัก ทวารเบา  แก้ฟกบวม  แก้คัน เปลือกหรือแก่น ใช้เป็นยาแก้ฟกช้ำ และนำไปเข้ากับยาอื่นหลายตัว แก้น้ำเหลืองเสีย บำรุงเลือด เป็นยาแก้พิษ ทั้งห้า (ราก ลำต้น ใบดอก และผล) มีรสฝาดขมเย็น เป็นยาสมานแผล แก้อักเสบฟกบวม แก้ท้องร่วง แก้ไข้ เพื่อลมและโลหิต แก้น้ำเหลืองเสีย
           บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้เปลือกเพกา ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ”ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของเปลือกเพกา ร่วมกับสมุนไพรอื่นอีก 12 ชนิด ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปนและท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ ตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของเปลือกเพการ่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:

           ไม่มีข้อมูล

องค์ประกอบทางเคมี:
           methyl oroxylopterocarpan, baicalein, chrysin, 5,7-dihydroxy-6-methylflavone, oroxylin A, scutellarein 7-rutinoside, galangin, lapachol

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

                   การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเฮกเซน, เอทิลอะซิเตต, อะซิโตน และเมทานอล ที่ได้จากเปลือกเพกา ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ใช้การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระทางเคมี 5 วิธี ได้แก่ DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl)radical scavenging assay, ferric reducing antioxidant power (FRAP) assay (หาความสามารถรวมในการส่งผ่านอิเล็กตรอนไปรีดิวซ์สารประกอบเชิงซ้อนของเหล็ก), hydrogen peroxide scavenging activity, metal chelating activity (ทดสอบความสามารถในการแย่งจับกับโลหะไอออน เนื่องจากเหล็กอิสระที่มีอยู่ทั่วร่างกายสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดอนุมูลอิสระได้)  และ thiobarbituric acid (TBA) assay (การตรวจวัดระดับสารมาลอนอัลดีไฮ (MDA) ผลผลิตจากการเกิดลิปิดเปอร์ออกซิเดชัน ที่เกิดจากการทำลายของไลปิดในเยื่อหุ้มเซลล์ ระดับ MDA ที่สูงขึ้นแสดงถึงอัตราที่เซลล์ในเนื้อเยื่อต่างๆ ถูกทำลาย โดยวัดจากปริมาณสาร thiobarbituric acid reactive substances (TBARS) ที่เกิดจากปฏิกิริยาระหว่าง MDA และกรดบาร์บิทูริก) ผลการตรวจสอบด้วยวิธี DPPH radical scavenging assay พบว่าสารสกัดเมทานอล และสารมาตรฐานวิตามินซี มีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 9.42±0.04 และ 12.25±0.01 µg/ml ตามลำดับ  การตรวจสอบโดยวิธี FRAP assay พบว่าค่า EC50 ของสารสกัดเมทานอล และวิตามินซี มีค่าเท่ากับ 292.31±0.06 และ 910.37 µg/ml ตามลำดับ การตรวจสอบโดยวิธี hydrogen peroxide scavenging activity พบว่าค่า IC50 ของสารสกัดเมทานอล และวิตามินซี มีค่าเท่ากับ 153.45 และ 228.97 µg/ml ตามลำดับ การตรวจสอบโดยวิธี metal chelating activity พบว่า EC50 ของสารสกัดเมทานอล มีค่าเท่ากับ 121.54 µg/ml การตรวจสอบโดยวิธี TBA assay พบว่าค่า IC50 ของสารสกัดเมทานอล และวิตามินซี มีค่าเท่ากับ 18.9788 และ 35.77 µg/ml ตามลำดับ  โดยสรุปสารสกัดเมทานอลจากเปลือกเพกามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าสารมาตรฐานวิตามินซีในการทดสอบทั้ง 4 วิธี คือ DPPH radical scavenging assay,FRAP assay, hydrogen peroxide scavenging activity และวิธี thiobarbituric acid (TBA) assay (Saha, et al., 2017)

          
การศึกษาทางคลินิก:

           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           เมื่อฉีดสารสกัดแอลกอฮอล์และน้ำ (1:1)  ให้แก่หนู  ขนาดสูงสุดที่ไม่เป็นพิษคือ 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรโดยการป้อนทางปาก  พบว่าสารสกัดแอลกอฮอล์ 70% ในขนาด 800 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  ไม่พบพิษ  แต่ถ้าฉีดเข้าทางช่องท้องในขนาด 800 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  พบว่าหนูตาย 7 ใน 10 ตัว  ส่วนการทดสอบความเป็นพิษกึ่งเฉียบพลัน  โดยป้อนสารสกัดให้หนูกินทางปากขนาด 800 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  หรือฉีดเข้าทางช่องท้องในขนาด 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  ไม่พบพิษ

 

เอกสารอ้างอิง:

Saha P, Choudhury PR, Das S, Talukdar AD, Choudhury MD. In vitro antioxidant activity of bark extracts of Oroxylum indicum (L.) vent. Asian J Pharm Clin Res. 2017;10(8):263-266.

 

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา    : www.phargarden.com

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง               : www.thaiherbarium.com

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม            www.thai-remedy.com

ข้อมูลตำรับยาเหลืองปิดสมุทร  www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 thaicrudedrug.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting